November 10, 2009

รวมตัวตั้งกลุ่มทุนค้าปลีกไทย จุดยืน "เชนสโตร์-โชห่วย" ผลประโยชน์ใคร ?

รวมตัวตั้งกลุ่มทุนค้าปลีกไทย จุดยืน "เชนสโตร์-โชห่วย" ผลประโยชน์ใคร ?
วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4156 ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02mar02091152&sectionid=0207&day=2009-11-09
คอลัมน์ จับกระแสตลาด



และแล้ว "ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น" ได้กลายเป็นตัวแปรใหม่ที่สร้างความสงสัยอย่างกว้างขวางให้เกิดขึ้นกับแวดวงค้าปลีกไทย

พลันที่ "ซี.พี.ออลล์" นำทีมผู้ประกอบการค้าปลีกไทย อาทิ ตั้งฮั่วเส็ง-โฮมโปร-วิลล่า มาร์เก็ต-ช้อยส์ มินิสโตร์ (กลุ่มตันตราภัณฑ์เชียงใหม่ ผู้ดำเนินธุรกิจเซเว่น อีเลฟเว่นในเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวม 160 สาขา) และอื่น ๆ รวม 20 ราย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตั้ง "สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย" (The Development of Thai Capital Retailers Association หรือ DTRA) ขึ้นมา ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 4 พฤศจิกายนนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นการแยกวงจากที่เคยสังกัดอยู่ในสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

เช้าวันเดียวกับที่มีแถลงข่าวเปิดตัวนั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ปัจจุบัน "ธนภณ ตังคณานันท์" ผู้บริหารจากเครือเซ็นทรัล สวมหมวกเป็นประธานต่อเนื่องสมัยที่ 2 ได้เรียกประชุมสมาชิก แม้จะออกตัวว่ายังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสมาชิกที่แตกตัวออกไปตั้งสมาคมใหม่

"ธนภณ" สงวนท่าทีกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทั้งยังมองว่าการรวมกลุ่มกันเป็นเรื่องที่ดีแต่ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการทำงาน

ขณะที่ "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายกสมาคม DTRA สด ๆ ร้อน ๆ ระบุว่า ยังคงเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกอยู่ แต่อาจต้องลดบทบาทและการทำงานลงเพื่อมาดูแลสมาคมใหม่นี้อย่างเต็มตัวและเต็มเวลา

สุวิทย์แจกแจงว่า การทำงานหลัก ๆ สมาคมจะเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ อบรมความรู้และเทคนิคการบริหารร้านรูปแบบต่าง ๆ แก่สมาชิกกลุ่มค้าปลีก สายพันธุ์ไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) กว่า 4 แสนรายทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อต่อสู้และรับมือการแข่งขัน

ทั้งยังให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกที่เป็น "ทุนของคนไทย" อย่างชัดเจน ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องการให้มีสมาคมที่เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือด้านการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกทุนไทยโดยเฉพาะ และได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีคนไทยเป็น "ผู้ถือหุ้นใหญ่" เท่านั้น

เทียบกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ไม่ได้มีข้อกำหนดนี้

จะเป็นทุนไทย หรือร่วมทุนไทย-เทศ หรือทุนต่างประเทศล้วน ๆ สามารถเป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกได้ทั้งสิ้น

เมื่อมีข้อกำหนดว่าต้องเป็น "ทุนไทย" อย่างชัดแจ้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ย่อมมีคำถามตามมาว่า การก่อตั้งสมาคมใหม่นี้เกี่ยวข้องกับกระแส "ต่อต้านค้าปลีกต่างชาติ" ใช่หรือไม่

คำถามนี้แจ่มชัดขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อ "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ภารกิจแรกของ DTRA คือจะเข้าร่วมนำร่องประชาพิจารณ์ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวันแถงข่าวเปิดตัวแค่วันเดียว เพื่อแสดงบทบาทและสะท้อนความต้องการที่เป็นกลุ่มก้อนในฐานะค้าปลีกไทย

หัวขบวนใหม่ผู้นี้ยังมองว่า ร่าง พ.ร.บ. ค้าปลีกฯดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ ประเด็น และเนื้อหาส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่กลุ่มโมเดิร์นเทรด แต่ไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกรายเล็กที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯที่กำลังแก้ไขกันอยู่นี้ ไม่ได้มีการแยกระหว่าง "ทุนไทย" และ "ทุนต่างประเทศ"

หากแยกระหว่าง "ค้าปลีกสมัยใหม่-โมเดิร์นเทรด" กับ "ค้าปลีกดั้งเดิม-โชห่วย" เป็นประเด็นหลัก

เมื่อดูจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมทำให้ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ถูกเหมารวมอยู่ในซีก คอนวีเนี่ยนสโตร์ เฉกเช่นเดียวกับ "เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส"

เป็นยักษ์ใหญ่ที่รุมรังแกโชห่วย

ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟู้ดแลนด์ เก็ท-อิท ซูเปอร์ มาร์เก็ตของตั้งฮั่วเส็ง หรือวิลล่า มาร์เก็ต ย่อมไม่ต่างอะไรจาก "ตลาดโลตัส"

ย้อนกลับไปที่ประเด็น "ทุนไทย" "ทุนต่างประเทศ" ยังเป็นข้อสังเกตว่า ในกรณีตั้งฮั่วเส็ง-โฮมโปร-วิลล่า มาร์เก็ท คงไม่น่ามีปัญหาสำหรับการนิยามตัวเองว่าเป็นค้าปลีกสายพันธุ์ไทย แต่สำหรับสถานภาพ ของคอนวีเนี่ยนสโตร์ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ที่ยังคงต้องเสียค่าไลเซนส์ให้กับต่างชาติ อยู่นั้นจะอยู่ในนิยามจุดยืนสายพันธุ์ไทยหรือไม่

ขณะเดียวกันถ้าจะเปรียบ "ซี.พี.ออลล์" กับ "บิ๊กซี" ก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งคู่ มีผู้ถือหุ้นทั้งไทย-เทศ ผสมปนเปกัน

ประกอบกับเมื่อไล่ย้อนดูบทบาทของ "ซี.พี.ออลล์" เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งตัวแทนไปนั่งเป็นประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมาแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกสายตาย่อมเพ่งมองไปที่การเล่นบท "หัวหอก" ของ ซี.พี.ออลล์ ด้วยแววตาที่สงสัยยิ่ง

กระนั้นก็ตาม หาก "ซี.พี.ออลล์" สามารถพิสูจน์ตัวเองว่า ทำเพื่อโชห่วย จริง ๆ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ผลจากการกระทำย่อมเป็นตัวชี้เจตนาเป็นอื่นไปไม่ได้

หน้า 17