May 6, 2014

งานวิจัยดุษฎีนิพนธ์แบบไหนถึงระดับปริญญาเอก


                 หลายคนที่เป็น นศ.ระดับปริญญาเอก มักมีคำถามว่า  การทำดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) ที่ผู้เขียนเรียกว่าการเขียนความรู้ใหม่  ทำกันแบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นงานพอสมศักดิ์ศรีของการเรียนระดับปริญญาเอก
                  เนื่องจากการเรียนในระดับนี้เป็นการศึกษาในระดับสูงสุด ดังนั้น นศ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้
                  หากพิจารณาอย่างไม่ยากนัก พอจะมีแนวทางให้ผู้เรียนระดับ ป.เอก ได้ 3 แนวทางดังนี้

                 1. ระดับความยาก (Level of Difficult)  ของงานวิจัยหรือ ดุษฎีนิพนธ์  คำว่ายากในที่นี้ไม่ใช่
                  -การใช้สถิติที่ยาก เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA)  จากโปรแกรมสำเร็จรูป
                  -เป็นงานศึกษาทาง วิศวกรรมศาสตร์  หรือ การเป็นวิชาชีพที่มีความเฉพาะ เช่นนักบินรบนักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา (เป็นงานยากเนื่องจากต้องให้ ความสุขช่ั่วคราวกับประชาชนตลอดเวลา เช่น สัญญาแจกเงิน )
                  - นศ. บางคน บอก ผมใช้การเก็บขัอมูลด้วยวิธีที่ยาก  ใช้ LISREL  Mplus ก็ยากแล้ว

                  แต่ความยากในที่นี้เป็น ความยากในการใช้หลายองค์ความรู้  หรือ บูรณาการความรู้ (Integrated Knowledge)  ยากในการใช้หลาย ๆ วิธีการวิจัย  ยากในการกำหนดกรอบความคิดที่เฉพาะเจาะจง ต้องลงไป จัดทำด้วย ทฤษฎีจากฐานราก (Grounded theory)
                 
                   2. ระดับลุ่มลึก (Level of Mastery) ผู้เขียนอาจจะเรียกว่า เป็นการศึกษาลงลึกใน องค์ความรู้ใดความรู้หนึ่ง คล้าย   In-depth specialist  เพื่อ เปิดพรมแดนใหม่แห่งความรู้  พัฒนาวิธีวิทยาการใหม่  พัฒนาเครื่องมือใหม่ทางการบริหารองค์กร   ศึกษาสิ่งตรงกันข้ามกับความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

                   3.ระดับผลกระทบ (Level of Impact) หมายถึง เป็นการศึกษาในระดับที่กว้าง คลุมใหญ่ขึ้นและส่งผลกระทบสูงต่อสาขาวิชาชีพ  ชุมชน ประเทศ หรือ สังคมโลก หรือ อาจสามารถนำไปสู่ การใช้ได้อย่างกว้างขวาง (Generalization)

                   ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยระดับปริญญาเอกชิ้นหนึ่ง เรื่ององค์ประกอบและตัวบ่งชี้้การบริหารเครือข่าย รร.คริสเตียน สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย   มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ ศึกษาองค์ประกอบการบริหารเครือข่าย ของ รร.ดังกล่าว  และ พัฒนาตัวบ่งชี้องค์ประกอบการบริหารเครือข่ายของ รร.ดังกล่าว (วารสารวิชาการ วารสารเซนต์จอห์น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ปีที่ 16 ฉ.19 ก.ค. -ธ.ค. 56 หน้า 22-23)
                    หากลองว่า ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น  ก็ต้องทำการศึกษาและตีความจากตัวเล่มสมบูรณ์เพราะในบทความ ไม่ได้อธิบายจนสามารถจะหยิบเกณฑ์ มาพิจารณาได้

                    ผู้เขียนมีคำแนะนำให้ ผู้ที่กำลังเรียนระดับปริญญาเอก และปวดหัวกับหัวข้อวิจัยว่าจะทำวิจัยได้หรือไม่ได้ ถึงระดับปริญญาเอก หรือไม่ หรือกระหยิ่มยิ้มย่องว่าใช้สถิติขั้นสูงเทียมเมฆแล้ว เป็นงานวิจัยถึงระดับนี้ อาจคว่ำข้าวเม่าก็ได้ครับ

                    อย่างแรก พิจารณาตาม 3 แนวทางข้างต้น และ อย่างที่สอง อ่านงานวิจัย ป.เอกเยอะๆ  และอย่างที่ 3 การทำวิจัยแบบ R& D  ดีกว่า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID: thailand081