November 27, 2014

การบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้


(จำหน่าย แล้ว ราคา 260 บาท  ค่าส่ง 40 บาท )

บทนำ: การบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้

                ความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงานเกี่ยวกับวิจัย น่าจะเป็นการเขียนประสบการณ์ซึ่งถอดออกมาจากช่วงเวลาของการทำวิจัยตลอดโครงการ หรือแม้กระทั้งการทำงานร่วมกันระหว่าง อาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้
                ทำไมผู้เขียนถึงอยากพูด อยากเขียนเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ (Body of Knowledge) หรือไปไกล ๆ ที่เรียกว่า “การบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ (Pioneering Frontier of Knowledge)” เพราะได้เห็น “การพัฒนาวิธีการสร้างทฤษฎีของต่างประเทศ”  โดยเฉพาะจากสถาบันการศึกษาและวารสารชั้นนำระดับโลกเช่น  Academy of Management  (สามารถศึกษาได้ จากเวบไซท์ของ AOM ) ส่วนตัวอย่างของ
การสร้างทฤษฎี  ผู้เขียนนำมาจาก   COPENHAGEN BUSINESS SCHOOL วิชา Theory Building at the Intersections of Organizing and Communication  ( http://www.cbs.dk/en/theory-building-the-intersections-of-organizing-and-communication)  เช่น
                -บทนำสู่ทฤษฎี : ทฤษฎีคืออะไร และทำไมเราจึงต้องสนใจ
                -กระบวนการสร้างทฤษฎี (The Theory-Building Process)
                -อะไรคือ ทฤษฎี (การจัดการ) (What is (Management) Theory?)
                - โมเดลของการอธิบาย  กลไก และบทบาทของข้อตกลงเบื้องต้น
                -การนิยามสร้างและการวัดทฤษฎี
                -โมเดลสาเหตุ  โมเดลภาคตัดขวางและโมเดล
                - มุมมองด้านเครือข่ายและการศึกษาองค์กร
                -ทฤษฎีพหุระดับ : ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างทฤษฎีในระดับที่แตกต่างกัน
                -ทฤษฎีใหม่เกิดมาได้อย่างไร : ทำอย่างไรให้เกิดการรังสรรค์
                การสอนในประเด็นข้างต้น ต้องยอมรับว่าไม่เคยได้ยิน หรือ มีการพูดกันน้อยในระบบการศึกษาของไทยเรา แต่มักจะได้ยินการกล่าวถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้มีการพัฒนาในโลกวิชาการ หรือ เป็นกรณีตัวอย่างกันมาอย่างมากมายและภาคภูมิใจที่ได้พูดถึง หรือ การได้ทำวิจัยตรวจสอบว่าสามารถนำมาใช้ในบริบทของสังคมไทย หรือ ใช้บริหารจัดการข้ามวัฒนธรรมได้ 
                หากไม่มีการศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อการสร้างทฤษฎีใหม่  แม้ว่าเรา (หน่วยงานรัฐด้านนโยบายการวิจัยของประเทศ) พยายามทุ่มงบวิจัยอย่างมาก เพื่อให้ศาสตราจารย์ทางสายวิทยาศาสตร์พยายาม คิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่  แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ได้อย่างประเทศเกาหลีใต้ได้ทันไหม (แม้จะไม่ได้ผลเร็วก็ดีกว่าไม่ทำในปัจจุบันนี้)  ในขณะที่ประเทศจีนกลับคิดตรงกันข้าม ได้บอกว่า การส่งคนไปเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศแม้ว่าจะยังจำเป็น แต่ใช้เวลานานมากในการให้ คนที่จบปริญญาเอกกลับมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และ ก็มีธรรมชาติของการทะเลาะกัน ต่างคนต่างเดิน  เป็นการสูญเสียเวลาของประเทศ จีนเลือกใช้วิธีการที่รวดเร็วกว่าในการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีคือ การเข้าไปกว้านซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) บริษัทเทคโนโลยีในโลกนี้ดีกว่าโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีในเยอรมัน ในด้าน เครื่องจักรและอุปกรณ์ของอุตสาหกรรม  ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์พลังงานกลับมาใช้ใหม่  อิเลคทรอนิกส์    เคมี พลาสติกและยาง

                  ในเดือน มกราคม 2012  LDK Solar ผู้ผลิตแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน เข้าไปซื้อ Sunways หนึ่งในผู้ผลิตแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ของเยอรมันซึ่งมีปัญหากับการต่อสู้ในการแข่งขันจากคู่แข่งเอเชีย Sany Heavy Industry ตกลงซื้อ  Putzmeister Holding  ผู้ผลิต cement-pump ที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมัน ด้วยมูลค่า  653  ล้าน US ดอลลาร์ พร้อมหนี้เสีย  และ XCMG ผู้ผลิตเครื่องจักรก่อสร้าง ได้เข้าไปซื้อ Schwing ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Putzmeister (อ้างจาก http://www.businessweek.com/articles/2012-06-14/china-goes-shopping-for-german-factories)
               ทั้งหมดนี้กำลังบอกทิศทางใหม่ ในการเรียนลัดสำหรับประเทศเกิดใหม่ เช่น  จีน ซึ่งร่ำรวยขึ้นมาและใช้วิธีการ “การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A)”  เป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี (แต่จีนก็น่าจะมีเทคโนโลยีระดับหนึ่งที่จะต่อยอดได้มิฉะนั้นได้เทคโนโลยีมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร)
               แล้วประเทศไทยเราจะสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการเพื่อก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี และการสร้างองค์ความรู้แบบใดสำหรับการแข่งขันที่จะเหมาะสมกับเรา  คงต้องช่วยกันคิดใหม่  คิดต่างจากที่ยังไม่เคยคิด และคงเดินในเส้นทางที่คุ้นเคยไม่ได้อีกต่อไปแล้ว


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาธุรกิจ
กรรมการบริหารหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลผู้บริหารระดับกลาง
สถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  
email: drdanait@gmail.com
Line ID: thailand081