March 13, 2011

ทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต (ที่น่าจะพอมี)

วันนี้ 13 มี.ค.54 ผู้เขียน(ดร.ดนัย เทียนพุฒ) และ ผศ.ดร.วินิจ เกตุขำ ไ้ด้มาสนทนาร่วมกัน ในวันปิดชั้นเรียนของ วิชา ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธสำหรับการบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา หลักสูตร ป.เอก รุ่นที่ 7 มซจ. ตามที่เคยเล่า มาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากผู้เขียนได้ฉายภาพ การจัดการศึกษาในอดีต ที่เหมาะสมในสมัยนั้นเพื่อผลิตบุคลากรรองรับระบบราชการและการบริหารประเทศ  ไล่มาถึงการนำการศึกษาของญี่ปุ่นมาครอบการศึกษาไทย และก็ปรับเปลี่ยนเรื่อยมา บทเรียนที่สรุปได้
1) เรามีความเป็นอารยะในด้านการจัดการศึกษาให้กับประชาชน
2) เราไม่ได้มุ่งเน้น อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม แต่เราเอาที่ทำได้คือ พาณิชยกรรม
3) ทศวรรษแรกของการปฏิรูปการศึกษา
    -มีความสำเร็จ ในด้านการออก พรบ.การศึกษาชาติ (ท่าน ดร.วินิจ)
    -ครูมีตำแหน่งทางวิชาการที่ชัดขึ้น (ท่าน ดร.วินิจ)
    -เข้าถึงเด็กมากขึ้น (ท่าน ดร.วินิจ)
    -ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนถ้าดูผลสอบ O-Net วิชาหลัก 5 วิชา ค่าเฉลี่ย(ต่ำกว่า 50) ตกต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษ (อาจมีบางปีในวิชาภาษาไทย พ้นน้ำนิดหน่อย)
    -การปรับเงินเดือนครู ที่เป็นรูปธรรม

ความท้าทายในอนาคตของการศึกษาในทรรศนะของผู้เขียน

อย่างแรก ทำอย่างไรเราจึงจะไม่จัดการศึกษาในแบบทฤษฎีเอ็กซ์(Theory X)  แต่เป็นทฤษฎีใหม่
   -เป็นการศึกษา ที่มี" หัวใจแห่งความเสรี" ที่อยากจะโบยบินไปหาความรู้ตามแต่ใจปรารถนา
    -เป็นการศึกษาแบบ " เป้าหมายเสรี " โดยใครอยากมีเป้าหมายเสรี ต้องยอมจ่ายเอง แต่ถ้าอยากให้รัฐจ่ายก็ เป็นเป้าหมายบังคับ ตามมาตรฐานไป ไม่ใช่มีแค่แบบเดียว ... One-Size -Fit -All
  
ประการต่อมา การวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาต้องเปลี่ยนเป็นการวัดทั้งช่วงชั้น ไม่ใช่วัดวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นสุดท้าย(เช่น ม.3) แต่ต้องวัดวิชาคณิตศาสตร์ จากการสอนของอาจารย์ (ผมว่ามันศักดิ์สิทธิ์ กว่าคำที่ใช้ในปัจจุบัน(ครู)แต่ในยุค 20ปีที่แล้วกลับกันครับ)
ทั้ง 3 ชั้น(ม.1-ม.3) การวัดผลงานอาจารย์เพื่อให้ความดีความชอบต้องวัดทั้ง 3 ชั้นร่วมกัน เพื่อให้อาจารย์คณิตฯ ทั้ง 3 ชั้นสอนเป็นทีม

ประการที่สาม ทำอย่างไรจึงจะให้ด็กสอบเกินค่าเฉลี่ยในทศวรรษหน้า
ต้องกลับมาพิจารณาใหม่ที่ว่า
    ......เราคิดว่าเราเข้าใจผู้ปกครอง จริงๆ เราอาจไม่เข้าใจจริง เราจึงไม่รู้ว่า พ่อ-แม่เด็กต้องการอะไร คงไม่ใช่จบ ม.3 ไปเรียนอาชีพ เพราะมีงาน 500,000 ตำแหน่ง แต่ต้องมาถามว่า เรียนอาชีวะเพื่ออะไร หรือเพราะอุตสาหกรรมต้องการแรงงานราคาถูก ใช้เครื่องจักรโบราณ(ประเทศไทยในอุตสาหกรรมครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องจักรเก่า ไม่ได้ผลิตภาพถึง 100 %) แต่ผู้ประกอบการไม่ลงทุนเครื่องจักรสมัยใหม่ แรงงานที่วุฒิสูงกว่าอาชีวะ
    ....เราเข้าใจว่า เรารู้ถึงพฤติกรรมเด็ก แต่ จริง ๆ เราไม่รู้ว่าเด็กต้องการเรียนแบบไหน ไม่อยากถูกบังคับรอบตัวไปหมด เพราะคิดว่าถ้าไม่บังคับจะกลายเป็นเด็กเลวตามที่คนกำหนดนโยบายคิด
    ....เราไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ผู้ใช้ต้องการคนแบบไหนที่จบการศึกษาออกมา
     
     ---การศึกษาในระดับอุดมศึกษา  ที่ท่องบ่นแต่คำว่า  คุณภาพ ๆๆๆ ทำแต่ มคอ. (ไม่ควรอ่าน) มันทำให้ ประเทศชาติแข่งขันกับเพื่อนบ้านและเวทีโลกได้จริง ๆ หรือ ...หรือนั่งมองตาปริบ ๆ เห็นประเทศที่ล้าหลังแซงหน้า แซงโค้ง ไปประเทศ 2 -3, 4 , 5....แล้ว สุดท้ายเราบอกว่า มีคุณภาพเพื่อแข่งกับตัวเอง (เพราะต่ำกว่าเราหันไปดูไม่มีอีกแล้ว)

     ---เราแก้ปัญหาปลายเหตุ จึงเป็นอะไรที่ชอบแก้เป็นเรื่อง ๆ เช่นคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ก็ออกข้อสอบวัดการคิดวิเคราะห์  เพราะเราจัดการศึกษาแบบทฤษฎีเอ็กซ์ ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของ เราสนใจเพียงระบบรายงานตามเอกสาร  สนใจเพียงหาให้ได้ว่า " ความผิดของท่านคืองานของเรา" เป็นยุคแห่งการเบ่งบานของ องค์กรทางการศึกษา ฯลฯ

สิ่งสำคัญต่ออุดมศึกษาไทย ..เราต้องกล้ายุบ-ควบรวม-เลิก สถาบันการศึกษาที่เป็นความซ้ำซ้อน การใช้งบประมาณอย่างมหาศาลที่ไม่มีทางพอ เพราะมีอุปกรณ์เหมือนกันทุกมหา'ลัย
เรา น่าจะมี มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ทีเดียว)  มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติ (ที่เดียว) ไม่ต้องไปเที่ยวเปิด วิทยาเขต ศูนย์ทั่วประเทศ ดังกับเหมือนมีมหา'ลัยตั้ง อยู่ภาคเหนือ กลับอยากมามีวิทยาเขตที่ ปากอ่าวไทย เพราะ มี มหา'ลัยจาก กทม. ขึ้นไปเปิดภาคเหนือ  ฯลฯ แล้วมีพวกมาไล่ปิดด้วยความรู้สึกภูมิใจ(ใคร) อย่างยิ่ง

ประการสุดท้าย (ครู-)อาจารย์สายพันธุ์ใหม่ ต้องเป็นผู้สอนที่
  เก่ง ดี มีสุข มีความหมายเป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว แต่ต้องขยายมากกว่านั้นอีก

1) ผู้สอน ต้องสามารถเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ผู้เรียน
2) ต้องเป็น " Play Maker" ในการจัดการเรียนการสอน -ผู้สร้างสรรค์การเรียนรู้
3) ต้องเป็นบุคคลที่สามารถ สร้าง สิ่งที่เรียกว่า " Social Contributor"
 และเราอยากเห็นมีการวิจัย ใหม่ ๆ ที่เป็นทัศนภาพใหม่ (New Scenarios) ในด้านการศึกษาที่ควบคู่ไปกับอนาคตของสังคมใหม่ไม่ใช่ภาพเก่า ภาพในความทรงจำถึงวันวานของการศึกษาไทย  ไม่อยากให้เกิดภาพของการขีดวงจำกัดให้มีเพียงชนชั้นเราเท่านั้น.....
 
นี่คือ ทิศทางอนาคตการศึกษาไทย ที่น่าพอจะมีหวัง

ดร.ดนัย เทียนพุฒ 
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ

บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนทฺ์

 email:DrDanaiT@gmail.com
โทร 029301133

No comments: