September 5, 2008

ธุรกิจไทยกับนวัตกรรมใหม่

ปี 2550 นี้เดาไม่ออกว่าจะเป็น “ปีหมูทอง” หรือ”ปีหมูไฟ” คงต้องรอดูไปอีก 1-2 เดือนเพราะในช่วงเวลานี้คงจะเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงธุรกิจและประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า
 ธุรกิจไทยกับปัญหาความเข้าใจในนวัตกรรมธุรกิจเป็นความชัดเจนอย่างยิ่งที่จะสรุปว่า การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จและโลดแล่นไปอย่างยาวนาน มีความจำเป็นที่จะต้องค้นหา “นวัตกรรมธุรกิจ” หรือ “นวัตกรรมใหม่” ให้ธุรกิจได้มีออกมาสู่ตลาดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เราลองมาพิจารณาปัญหาความเข้าใจในประเด็นต่อไปนี้
(1) นวัตกรรมคืออะไร หลายคนมักจะบอกว่าการคิดสร้างสรรค์ การมีความคิดใหม่หรือไอเดียใหม่ๆ จะบอกว่านี่แหละนวัตกรรม ซึ่งธุรกิจไทยมักจะมีความเข้าใจในประเด็นนี้สูงทีเดียวผู้เขียนขอคิดด้วยคนว่า ความคิดสร้างสรรค์ การมีความคิดใหม่หรือไอเดียใหม่ๆ ยังไม่ใช่นวัตกรรม แต่ที่เป็น “นวัตกรรมทางธุรกิจ” ได้ต้องเป็น “ไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถขายได้” หรือ “การทำให้ไอเดียใหม่ๆ นั้นมีมูลค่าเชิงพาณิชย์”
(2) อย่างนั้น “แหล่งที่มาของนวัตกรรมอยู่ที่ใด” ถ้าจะพูดแบบถูกทุกคำตอบก็อาจจะบอกว่า “มีอยู่ได้ทุกหนทุกแห่ง” และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างนั้นจริงๆ
- แหล่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดนวัตกรรมอยู่ที่ “ลูกค้าหรือตลาดการแข่งขัน” เพราะว่าลูกค้าและในตลาดการแข่งขันนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ความต้องการของผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คู่แข่งนำเข้ามาสู่ตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง และคนหน้าใหม่ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจจะเสนอนวัตกรรมใหม่เข้าสู่ตลาดการแข่งขันเช่นเดียวกัน
- แหล่งต่อมาที่สำคัญของนวัตกรรมจะอยู่ในธุรกิจซึ่งคงชัดเจนที่สุด เช่น ฝ่ายงานการตลาดและการขาย หรืองานบริการลูกค้า ฝ่ายโรงงานผลิต หรือบางธุรกิจจะมีฝ่ายงานด้าน R&D ที่ทำหน้าที่คิดค้นและรวบรวมสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ ความต้องการของผู้บริโภค ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้เลยอาจจะมาจากผู้บริหารระดับสูงหรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
(3) ธุรกิจไทยมีนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ความจริงในเรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่า ธุรกิจไทยเรามีความสามารถในการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ แต่อาจจะจำกัดอยู่ที่ระดับของการลงทุน เทคโนโลยีหรือข้อจำกัดในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและความรู้ที่จะก้าวทันและแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วดังนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นนวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดใหม่ๆ ออกมา “โดนใจตลาดโลก” จนติดขึ้นเป็นแบรนด์ชั้นนำ เช่น Sony, Samsung, Nike, Disney หรือแม้กระทั่ง Dior และ Hello Kitty

 การสร้างอัตราการเร่งสู่นวัตกรรมใหม่ของธุรกิจไทยธุรกิจไทยจะสามารถสร้างอัตราเร่งให้มีนวัตกรรมใหม่จนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ประการแรก ความก้าวหน้าใน “องค์ความรู้และเทคโนโลยี” ธุรกิจไทยมีการสร้างความรู้ในลักษณะ “วัฒนธรรมการเรียนแบบรับรู้” (Receiving Learning Culture)” เพราะเราไม่มีองค์ความรู้ของเราเองจึงต้องตามความก้าวหน้าใน “องค์ความรู้และเทคโนโลยีของชาติตะวันตก” ที่มีการพัฒนาต่อยอดความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่องจากการสร้างพื้นฐานมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาและธุรกิจเอกชนที่เป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทำให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดโลกได้อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ธุรกิจไทยไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในเรื่องนี้ได้
ประการที่สอง การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของธุรกิจ ความเข้าใจในภาคปฏิบัติของธุรกิจไทยเกี่ยวกับนวัตกรรมทางธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ ธุรกิจไทยเข้าใจอยู่บนพื้นฐานของมุมมองแบบนักอุตสาหกรรมที่มองว่า ต้องมาจากการสร้างเทคโนโลยีหรือความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมจากนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์จึงจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันนี้ธุรกิจระดับโลกและการศึกษาในโลกพบว่า อัตราเร่งของการเกิดนวัตกรรมมีได้ในแต่ละมิติของนวัตกรรรมดังนี้

* นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) เป็นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหรือความรู้ใหม่เพื่อผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด
*นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) ต้องเข้าใจว่ากระบวนการในที่นี้ไม่ใช่กระบวนการผลิต (Production Process) อย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ที่สามารถใส่หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจมีความแตกต่างเหนือคู่แข่งขันได้ตลอดเวลา
*นวัตกรรมธุรกิจ-ความรู้ (Business-Knowledge Innovation) ด้วยการที่ธุรกิจมุ่งสนใจในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการมาอย่างยาวนาน จึงเกิดความคิดใหม่ที่จะแสวงหานวัตกรรมใหม่ทางธุรกิจ เช่น นวัตกรรมการตลาด (Marketing Innovation) และนวัตกรรมการจัดการ (Management Innovation)ผู้เขียนอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า นวัตกรรมธุรกิจ-ความรู้ (Business-KnowledgeInnovation) เพราะเป็นสิ่งที่ครอบคลุมประเด็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและนักคิดทางธุรกิจกำลังศึกษากันอยู่

 ประการสุดท้าย การเพิ่มอัตราเร่งสู่นวัตกรรมใหม่ของธุรกิจไทยการที่ธุรกิจไทยจะเพิ่มอัตราเร่งสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้นั้น จำเป็นจะต้องเปลี่ยนในแนวคิดและวัฒนธรรมทางธุรกิจ เช่น
(1) การเร่งอย่างรวดเร็วในการเรียนรู้ ความรู้ใหม่-เทคโนโลยีใหม่ โดยมุ่งให้บุคคลรุ่นใหม่ของประเทศได้มีการเรียนรู้ในพื้นฐานและดูดซับความรู้ใหม่-เทคโนโลยีใหม่จากทุกแห่งทั่วทุกที่จากทุกมุมโลก ลำพังจะให้ธุรกิจพัฒนาบุคลากรให้เป็น องค์กรนวัตกรรมอาจเป็นสายธารเดียวที่มีโอกาสสำเร็จได้ยากหรือใช้เวลานานมากแบบไกลเกินเอื้อม
(2) ธุรกิจคงต้องทบทวนความคิดใหม่ว่า การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning Organization) นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นการศึกษาและเรียนรู้แบบ “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบการรับรู้” (Receiving Learning Culture)” แต่ไม่ใช่ “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบการผลิตภาพ (Producing Learning Culture) หรือการเรียนรู้แบบนวัตกรรมและผลิตภาพ (Innovative and Productive Learning)
(3) การสร้างและเพิ่มอัตราเร่งสู่นวัตกรรมของธุรกิจไทย จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการและนวัตกรรมธุรกิจ-ความรู้
ขณะเดียวกัน การเป็นองค์กรแบบใหม่ที่เรียกว่า “องค์กรนวัตกรรมและผลิตภาพ (Innovative & Productive Organization)” เท่านั้น จึงจะทำให้ธุรกิจไทยเป็น “ธุรกิจแห่งนวัตกรรม” (Innovative Enterprises)” ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน


Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants Co.,Ltd.

No comments: