ผมเห็นด้วยและชื่นชมในสิ่งที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เขียนบทความเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่องค์กรทางการศึกษา หริอผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษา ใช้"สมองส่วนหลัง" คิดและทำงาน
จึงขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ต่อ...
---------------------
ระบบการศึกษาระบบควบคุมหรือระบบส่งเสริมความงอกงาม
ศ.นพ.ประเวศ วะสี
วันที่ 7 กันยายน 2554
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ http://goo.gl/pvzwx
*เหตุเกิดที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีประท้วงด้วยการยื่นใบลาออก
วิทยาลัยคิดว่าวิทยาลัยรู้ดีกว่า สกอ. และคิดว่า สกอ. ใช้อำนาจโดยไม่รู้
การศึกษากับระบบที่ใช้กับการศึกษาเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน และเป็นต้นเหตุของความอ่อนแอของการศึกษาไทยที่แก้เท่าไรๆก็แก้ไม่ตก เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ
การศึกษาเป็นระบบของความงอกงามอย่างหลากหลาย แต่ระบบราชการเป็นระบบของการควบคุม
เมื่อเอาระบบการควบคุมมาใช้กับการศึกษาความงอกงามก็ไม่บังเกิดสมกับที่เป็นการศึกษา
การศึกษานั้นควรจะเป็นการกระตุ้นสมองส่วนหน้า แต่การควบคุมนั้นกระตุ้นสมองส่วนหลัง สมองส่วนหลังนั้นเป็นสมองสัตว์เลื่อยคลาน (Reptilian brain) มีหน้าที่เกี่ยวกับความอยู่รอด เช่น การกิน การสืบพันธุ์ การต่อสู้ การหลบภัย การทำร้ายสัตว์อื่น หรือคนอื่น สมองส่วนหน้า (Neo-cortex) เป็นสมองมนุษย์ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญาขั้นสูง จินตนาการ วิจารณญาน ศีลธรรม
ถ้าผู้เรียนรู้มีอิสระที่จะจินตนาการ ที่จะเลือกเรียนรู้อย่างหลากหลายได้ทดลองของใหม่ๆจะกระตุ้นสมองส่วนหน้าให้เจริญ มีสติปัญญาสูง มีวิจารณญาน มีความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ (Empathy) มีจิตใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ (Altruism) มีศีลธรรม
การถูกควบคุมจะไปกระตุ้นสมองส่วนหลังซึ่งเป็นสมองสัตว์เลื่อยคลานทำให้ขาดจินตนาการ (ตะกวดไม่มีจินตนาการ) ขาดสติปัญญา ขาดวิจารณญาน ขาดศีลธรรม มีความหยาบและการทำร้ายกันสูง
การที่คนไทยเป็นอย่างนี้ๆก็เพราะเราอยู่ในระบบอำนาจแบบ top down ทุกแห่งหน พ่อแม่ก็ top down กับลูก ครูก็ top down กับนักเรียน เจ้านายก็ top down กับลูกน้อง ระบบการศึกษาก็ใช้ระบบราชการซึ่งเป็นระบบควบคุมมากกว่าระบบส่งเสริมความงอกงาม จึงไม่แปลกที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้สมองส่วนหลังมากเกิน และใช้สมองส่วนหน้าน้อยเกิน
การต่อสู้ทางการเมืองเป็นตัวอย่างของการใช้สมองส่วนหลัง ในการใช้สมองส่วนหลังนั้นจะไม่คำนึงถึงความจริงและศีลธรรม แต่มุ่งเอาชนะอย่างเดียว การต่อสู้กันโดยไม่ใช้ความจริงและศีลธรรม ทำให้สังคมแบนราบขาดความสูงส่งทางคุณค่าหรือจิตวิญญาน สังคมที่ขาดคุณค่าของความดีงามเป็นสังคมที่น่ากลัวยิ่งนัก
เนื่องจากระบบการศึกษาไทยเป็นระบบการควบคุม กระทรวงศึกษาธิการจึงหนักอึ้งรกรุงรังไปด้วยเครื่องมือในการควบคุม การกำหนดมาตรฐานต่างๆก็คือการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด การกำหนดชื่อปริญญา กำหนดอัตราเงินเดือน กำหนดตัวชี้วัด ล้วนเป็นการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน
การควบคุมทำให้เกิดความบีบคั้น ความขัดแย้ง และความไม่งอกงามอย่างหลากหลาย มนุษย์นั้นไม่มีใครสองคนในโลกที่เหมือนกันแม้แต่ฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน ควรจะมีโอกาสงอกงามหลากหลายแตกต่างกัน การพัฒนามนุษย์ไม่ใช่การหล่อหลอมให้ออกจากเบ้าเดียวกันเหมือนการปั๊มขวดปั๊มกระป๋องออกมาจากโรงงาน
การศึกษาไม่ใช่การหล่อหลอมให้เหมือนกันแต่เป็นการส่งเสริมความงอกงามอย่างหลากหลายจึงไม่ควรมีมาตรฐานเดียวหรือตัวชี้วัดเดียวที่ใช้ทั่วไปหมด ซึ่งจะไปทำลายความงอกงามอย่างหลากหลาย
ถ้าระบบการศึกษาจะเป็นระบบการส่งเสริมความงอกงามแล้วไซร้จะเบาสบาย สวยสดงดงาม สร้างสรรค์ และประหยัดกว่าปัจจุบันนี้มาก กล่าวคือ ส่งเสริมให้บุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กรต่างๆ มีอิสระในการจัดการการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ตามความต้องการของบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ จะเกิดจินตนาการใหม่ๆ ความริเริ่มใหม่ๆ ความสร้างสรรค์ใหม่ๆ อย่างหลากหลาย มีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้เต็มแผ่นดิน ความหลากหลายของจินตนาการและนวัตกรรมการเรียนรู้เป็นความงามที่ก่อให้เกิดความปิติสุขแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ในระบบการศึกษาที่ส่งเสริมความงอกงามอย่างหลากหลาย กระทรวงศึกษาธิการไม่เหมือนเดิม น้ำหนักจะไปอยู่ที่ครูมากกว่าผู้บริหาร(ควบคุม) การศึกษา ครูที่ส่งเสริมการเรียนรู้และร่วมเรียนรู้จะกลายเป็นครูที่เก่ง ครูที่ใช้อำนาจจะเป็นครูที่ไม่เก่ง เราก็ได้แต่ร้องว่าครูไม่เก่งๆ โดยไม่เปลี่ยนระบบอำนาจ กระทรวงศึกษาธิการจะมีขนาดเล็กลง เหมือนในประเทศที่เจริญทั้งหลาย และปรับบทบาทจากผู้ควบคุมกลายเป็นผู้สนับสนุนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ การที่จะสนับสนุนทางนโยบายและทางวิชาการได้ ตัวเองจะต้องเก่ง ถ้ามีอำนาจและใช้อำนาจตัวเองก็ไม่ต้องเก่งและจะไม่เก่ง กระทรวงศึกษาธิการในรูปใหม่จะไปติดตามชื่นชมความงอกงามอย่างหลากหลาย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดให้งดงามและดียิ่งๆขึ้นไป คนทั้งประเทศจะถูกปลดปล่อยไปเป็นอิสระและพัฒนาอย่างหลากหลายเต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ประเทศไทยจะเข้มแข็งขึ้น
ในท้ายที่สุดผมขออาราธนาอาจารย์สุกรี เจริญสุข อย่าไปโกรธใครเลย ไม่ว่าจะเป็นหมอวิจารณ์หรือใครอื่น เพราะในระบบการควบคุมทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้น ขอให้อาจารย์สุกรีและคณะจงบรรเลงเพลงปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้กระหึ่มไปทั้งประเทศ ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาด้วยวิธีต่างๆมากแล้วแต่ไม่สำเร็จ การใช้ดนตรีปฏิรูปอาจสำเร็จ เพราะเมื่อผู้คนได้ฟังดนตรีแล้วจะมีความสุข เมื่อมีความสุขแล้วสมองจะดี เรียนรู้เรื่องที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น
ถึงเวลาประเทศไทยจะต้องเข้าเกียร์ใหม่ เปลี่ยนจากเกียร์ใช้สมองส่วนหลัง ไปใช้เกียร์สมองส่วนหน้าหรือสมองแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดจินตนาการ สติปัญญาที่ลึกซึ้ง มีวิจารณญาน มีสุนทรียธรรม และมีศีลธรรม
ด้วยการปรับระบบการศึกษา จากระบบการควบคุมไปเป็นระบบส่งเสริมความงอกงามอย่างหลากหลาย