November 20, 2010

แบบทดสอบ วิชา HRM in Ed 2/2553 สำหรับวันที่ 21 พ.ย. 53





แบบทดสอบ วิชา HRM in Ed 2/2553  สำหรับวันที่ 21 พ.ย. 53
ผู้สอน ดร.ดนัย เทียนพุฒ
ป.โท บริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ  
ม.เซนต์จอห์น

โจทย์ ให้นักศึกษาอ่านบทความต่อไปนี้แล้วตอบคำถาม

ตอบคำถาม ก่อนเข้าเรียนหรือ ส่งภายใน เวลา 13.15 น. งานรายบุคคล
1.โดยรวมแล้วท่านมีทัศนะเกี่ยวกับบทความนี้อย่างไร โดยจงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
 และท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร
2.ในด้านการบริหารการศึกษาท่านคิดว่าจะมีอะไร ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

ตอบภายหลังจากที่ได้รับความรู้แล้ว หลังพักเบรค  เวลา 14.45 น. งานกลุ่ม 5-6 คน
3.ตามหลักวิชา HR ที่ท่านได้เรียนรู้มาท่านคิดว่า “คนเลือกองค์กร องค์กรเลือกคน”
กลุ่มท่านจะมีแนวทางอย่างไร
-การกำหนดปรัชญา และหลักปฏิบัติในด้านการรับคนขององค์กร (ทั่วไป และด้านการศึกษา)
-กรณีนี้ (ตามที่ได้อ่าน ตย.ของแต่ละบริษัท) ท่านจะมีวิธีดำเนินการอย่างในการรับคน ที่เป็น
Gen C/Gen i/Gen Net (คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันและอนาคตที่จะเข้ามาทำงานในองค์กร)

--------------------------------------------------------------------------
คนเลือกองค์กร องค์กรเลือกคน ธุรกิจเปิดเกมรุกหมายตาว่าที่พนักงาน

(อ้างจาก
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4263  ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02edu01181153&sectionid=0222&day=2010-11-18)

แม้ในแต่ละปีจะมีบัณฑิตปริญญาตรีจบจากสถาบันการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนคน แต่ความขาดแคลนแรงงานที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจยังคงเป็นหนังเรื่องยาวที่แก้ไม่จบ จากการผลิตบัณฑิตไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาการว่างงาน

ถึงธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบในการคัดเลือกบุคลากรระดับหัวกะทิก่อนใคร เนื่องจากคนเก่งย่อมต้องการทำงานในบริษัทที่มีความมั่นคง แต่ก็ยังมีการแย่งชิงกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะที่วันนี้คนเก่งกลับเป็นผู้เลือกองค์กรที่ตนเองอยากเข้าทำงาน องค์กรจึงต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ไฉไล โกมารกุล ณ นคร ที่ปรึกษาบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โอสถสภา จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้การว่าจ้างในตลาดแรงงานเป็นของคนที่เรียนจบมากกว่าบริษัท เพราะขณะนี้คนที่เรียนจบจะเป็นผู้เลือกองค์กร ต่างจากสมัยก่อนที่บริษัทเป็นผู้เลือก ขณะนี้หลายบริษัทจึงต้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในแบบที่ต้องการมากยิ่งขึ้น

"อย่างเรา มีโครงการผู้จัดการฝึกหัดในระดับปริญญาโทให้มาเรียนรู้งาน 18 เดือน เพื่อฝึกให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูง เพราะหลายองค์กรก็พยายามหากลุ่มคนเดียวกัน ทำให้เกิดการแย่งชิงคนในตลาด" 

นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการของโอสถสภาที่เพิ่งจบไปหมาด ๆ "Osotspa Talent Camp" ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 3 ปี โดยคัดเลือกเด็กหัวกะทิที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย จากทั่วประเทศมาเข้าค่ายทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การตลาด การขาย การผลิต รวมถึงการวางแผนสื่อ จากผู้บริหารของโอสถสภา โดยมีจุดประสงค์ข้อหนึ่งเพื่อต้องการค้นหาเพชรเม็ดงามที่จะมาเป็นว่าที่พนักงานขององค์กรในอนาคต


"เราจะมีทีมงานเข้าไปประชาสัมพันธ์กิจกรรมแบบเชิงรุก ในแต่ละมหาวิทยาลัยและมีการจัดประชุมให้ทราบเกี่ยวกับโครงการ ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บของเราและเว็บมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่สามารถร่วมกิจกรรมต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป มีประวัติในการทำกิจกรรมและดูมีความ มุ่งมั่นในการทำงาน และเด็กที่ผ่านค่ายนี้ก็จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เราจะให้ติดต่อมาสัมภาษณ์ เมื่อมีตำแหน่งว่าง ซึ่งขณะนี้ได้รับเข้าทำงานแล้ว 2 คน และเข้าก็ทำงานได้เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก" ไฉไลกล่าว

นอกเหนือจากการตอบโจทย์ด้านการสรรหาบุคลากร การทำกิจกรรมกับเด็กยังทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่มากขึ้น


"เราอยู่มา 120 ปี มีวิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น โครงการนี้จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของโอสถสภาให้รู้จักมากกว่าบริษัทที่ผลิตยา และได้เรียนรู้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ระหว่างทำกิจกรรม ขณะที่เด็กที่เข้าร่วมโครงการก็จะรู้สึกดีต่อแบรนด์และทำหน้าที่ไม่ต่างจากทูตเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือหรืออย่างน้อยอยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นองค์กรหนึ่งที่อยู่ในใจ" ไฉไลกล่าว

เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เริ่มมีโครงการลักษณะนี้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ในชื่อโครงการ "CPF Future Career 2010" ที่เข้าไปให้ความรู้เรื่องการสมัครและสัมภาษณ์งาน รวมถึงรับสมัครนักศึกษาที่กำลังจะจบเข้าทำงานโดยจะจัดกิจกรรมใน 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการอาวุโสด้านบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า นอกจากโครงการนี้จะได้คืนประโยชน์ให้กับสถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตให้ได้งานทำ การที่เราได้เข้ามาคัดเลือกเด็กถึงสถาบัน จะรับรู้ความรู้สึกของเขาอย่างใกล้ชิด ทำให้ความคาใจบางอย่างที่เคยมีหายไปเมื่อเขามีโอกาสเข้ามาทำงานก็จะรู้จักบริษัทเป็นอย่างดี

"จากที่สัมผัสเด็กในพื้นที่ต่าง ๆ มองว่าเราเป็นบริษัทที่ทำงานด้านเกษตรมากกว่าธุรกิจอาหารเราก็ต้องทำหน้าที่เปลี่ยนให้เด็กรู้ ถ้าเราบอกว่าเป็นบริษัทชั้นนำแล้วไม่ต้องแคร์ใครแบบนั้นไม่ได้ เพราะทั้งโลกคือการแข่งขัน แต่เราต้องปรับตนเองอยู่เสมอ การแข่งขันในการชิงตัวเด็กในบางสาขายังมีสูง ใครอยู่นิ่งถอยหลังแน่นอน ต้องก้าวเกินคนอื่นหนึ่งก้าว เช่นเดียวกับงานด้านทรัพยากรบุคคล ที่เราต้องก้าวเกินคนอื่นด้วยเช่นกัน" ปริโสทัตกล่าว

พร้อมกันนั้นองค์กรยังต้องปรับตนเองเพื่อทำงานกับคนยุค Gen Y ด้วย

เขากล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าคนที่จะเข้ามาในบริษัทเป็นคน Gen Y ไม่ใช่เด็กปรับตัว แต่องค์กรก็ต้องปรับตัวด้วย 

"ทุกวันนี้ทั้งมหาวิทยาลัยและองค์กรก็ให้ความสำคัญกับคนยุค Gen Y ภาพลักษณ์ของบริษัทเป็นเรื่องที่คนยุค Gen Y ให้ความสนใจ อยู่แล้วก้าวหน้าหรือไม่ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขาหรือไม่ อย่างที่เราปรับ คือ สภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และวิธีการบริหารจัดการว่าคนรุ่นใหม่ชอบแสดงความคิดเห็นที่คนรุ่นก่อนต้องยอมรับ" ปริโสทัตกล่าวทิ้งท้าย

หน้า 31


ผู้บันทึกข้อสอบ  ดร.ดนัย  เทียนพุฒ
วันที่ 20 พ.ย.53

No comments: