August 5, 2009

หลักเกณฑ์การวัดผลตอบแทนด้านคน : HR Scorecard by Dr.Danai Thieanphut

ความงดงามใน "ประดิษฐกรรมทางปัญญาของมนุษยชาติ" เป็นสิ่งลี้ลับที่มีการศึกษาค้นคว้า มานานนับศตวรรษเลยทีเดียว! เช่นเดียวกัน "ทรัพยากรบุคคลจะมีคุณค่า" ก็ต่อเมื่อสามารถวัดคุณค่านั้นออกมาได้
"ทรัพยากรบุคคลหรือคน" ถ้าพิจารณาทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์จะถือเป็นทรัพย์สิน แต่เป็นทรัพย์สินที่วัดค่าได้ยากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล หากบุคคลนั้นสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่และนำไปสู่ มูลค่าเชิงเศรษฐกิจได้ ความรู้นั้นก็มีค่าอเนกอนันต์ในทางกลับกันหากความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลสะสมไว้เรื่อยๆ ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ หรือ บูรณาการให้เกิด
ความรู้ใหม่ไม่ได้ ก็จะบอกว่าบุคคลนั้นมีมูลค่าน้อย หรือ มีสาระแห่งชีวิตไม่มากนัก เมื่อดับขันธ์ไปแล้วก็ไม่มีใครจดจำได้

นักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามที่จะแยกแยะ "คน" เพื่อให้สามารถวัดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ หรือตีค่าออกเป็นตัวเงินให้ได้ จึงเป็นที่มาของ "ทรัพย์สินที่จับต้องได้" (Tangible Assets) และ "ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้" (Intangible Assets) เมื่อโลกธุรกิจก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือหลายๆ ประเทศกำลังพยายามปรับประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า เศรษฐกิจแบบเค (K-Economy) ก็ได้เช่นกัน ความสนใจในเรื่องของ ทุนทางปัญญา (IC: Intellectual Capital)
และการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) จึงเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น

โดยสามารถจับทิศทางได้ว่า ในส่วนของ ทุนทางปัญญา จะมี กลุ่มที่สนใจทางกลยุทธ์ธุรกิจ และที่ปรึกษาหรือนักวิชาการสาย HR ให้ความสนใจ ที่จะทำการศึกษาและหาเครื่องมือวัดในด้านทุนทางปัญญาให้ชัดเจน หรือตีค่าเป็นตัวเงินให้ได้ กับกลุ่มทางด้าน IT หรือ Tech พยายามผลักดันเรื่องของ ซอฟท์แวร์ในการจัดการความรู้ คือ พยายามนำความรู้ของคนในองค์กรใส่เข้าไปใน ฐานข้อมูลความรู้ (Knowledge Database) จนเป็น คลังความรู้ที่ใหญ่มาก (Knowledge Warehousing) และทำการวิเคราะห์หรือจัดการความรู้ดังกล่าว (Data Mining) ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่ายังอาจไม่ครอบคลุมในเรื่องการจัดการความรู้ถ้าเน้นในแง่มุมเฉพาะ IT หรือ Tech เท่านั้น เนื่องจากควรไปให้ไกลถึงเรื่องของ ทุนมนุษย์ (Human Capital) และกลุ่มสุดท้ายมองที่หน่วยงานหรือองค์กรด้าน HR ว่าจะวัดผลสำเร็จด้านคนอย่างไร ซึ่งมีทั้งพิจารณาในเรื่องของการวัดผลตอบแทน ด้านคน (The ROI of Human Capital) และการวัดผลสำเร็จด้าน HR (The HR Scorecard) ซึ่งในการวัดผลสำเร็จด้าน HR จะใช้ เครื่องมือคล้ายกลุ่มที่สนใจทางกลยุทธ์ธุรกิจ คือดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจ (KPIs/ BSC)

การวัดผลตอบแทนด้านคน

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือที่มาของทฤษฎีในเรื่องของ การวัดคุณค่าของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ที่เรียกว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital) เช่น

การวัดผลตอบแทนด้านคน/ ทุนมนุษย์ (The ROI of Human Capital)

ดัชนีวัดผลสำเร็จด้าน HR (The HR Scorecard) บางครั้งผู้เขียนเรียกว่า HR-Indicators

การวัดมูลค่าเพิ่มของทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Value)

ผู้เขียนคิดว่าถ้าผู้บริหารธุรกิจ ผู้บริหาร HR หรือผู้ที่สนใจในเรื่องของ "คนหรือทรัพยากรบุคคล"
จำเป็นต้องมีพื้นฐานหรือทำความเข้าใจในเรื่องของ "โมเดลใหม่ของ HR สำหรับศตวรรษที่ 21"
"ทุนทางปัญญา (ICV: Intellectual Capital Value)" แล้วถึงจะมาทำความเข้าใจใน 3 เรื่องดังกล่าวข้างต้น คือ การวัดผลตอบแทนด้านคน/ ทุนมนุษย์ ดัชนีวัดผลสำเร็จด้าน HR และการวัดมูลค่าเพิ่มของทุนทางปัญญา

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

No comments: