August 22, 2009

HRD Case Study By Dr.Danai Thieanphut

ผู้เขียนสอนวิชา HRM สำหรับหลักสูตร MBA- M.Ed. กำลังจะหาโจทย์ให้ นศ. ได้วิเคราะห์ถึงเรื่อง HRD ที่ถูกต้องไม่ Misconcept ไปตามที่พบกันอยู่ในปัจจุบัน เผอิญโชคดีได้ Google it จาก บทความเรื่องนี้พอดีจึงนำมาเป็นโจทย์เพื่อการศึกษาครับ และขอขอบคุณท่านผู้เขียนไว้ด้วย ณ ที่นี้

โจทย์ ให้นศ. อ่านบทความเรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก่อนที่จะเข้ากลุ่มกิจกรรมตามที่กำหนด
5 กลุ่ม
กิจกรรมกลุ่ม ใช้เวลา 30-45 นาที
1. นศ. มีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้อย่างไรบ้าง เห็นด้วย ถูกต้อง ควรทำตาม หรือ ฯลฯ
2. ถ้าหากพิจารณาตาม ทฤษฎีด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ นศ. สรุปได้ไหมว่า
-การพัฒนาทุนมนุษย์ในความหมายที่ควรจะเป็นคืออะไร
-แนวทางที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไรจึงจะพัฒนาได้จริง
-KM จะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร
-จะวัดความสำเร็จของการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างไร

****************************

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นายจารุพงศ์ พลเดช
ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี

ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เพราะความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคลากร องค์กรใดหากมีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง มีคุณธรรม มีจริยธรรม ย่อมสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ต้องการอย่างยั่งยืน องค์กรทุกองค์กร จึงปรารถนาและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เห็นทั้งคนดีและคนเก่งอยู่ตลอดเวลา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศของเราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับแนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-7 ก็ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมหลายประการเลยทีเดียว นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมา ก็เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแบบองค์รวม โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนและสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีประสิทธิภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
การพัฒนาระดับชาติ มุ่งพัฒนาคนในภาพรวมเพื่อให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีผลิตภาพสูง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม การพัฒนาจึงคำนึงถึงการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านแรงงาน เป็นสำคัญ
การพัฒนาระดับองค์กร มุ่งพัฒนาคนให้เกิดความเชี่ยวชาญสามารถทำงานให้องค์กรได้อย่าง มีผลิตภาพสูงและพร้อมกับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเน้นการพัฒนาทางด้านบูรณาการระหว่างการพัฒนาบุคคล การพัฒนาอาชีพและการพัฒนาองค์กร เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาจากการเรียนรู้ ของบุคคลไปสู่ทีมการเรียนรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
การพัฒนาระดับบุคคล มุ่งพัฒนาคนให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ และประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ เป็นสมาชิกระดับครอบครัว องค์กร สังคมและประเทศชาติ


ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมากที่สุด
ปัจจุบันโลกได้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สำหรับเศรษฐกิจยุคเก่านั้น
เน้นการผลิต จะให้ความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการแปรรูปผลผลิตในเชิงกายภาพ การพัฒนาประเทศ จะมุ่งไปสู่เศรษฐกิจบนพื้นฐานของการผลิต โดยมีปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ แรงงานและทุน ขณะเดียวกันแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพลังสมองของพนักงานจำนวนมากมายในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
สำหรับเศรษฐกิจใหม่นั้น ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ พลังสมอง ส่งผลทำให้ทรัพยากรมนุษย์กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของประเทศ ส่งผลให้กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ปัจจุบันกลยุทธ์การพัฒนาประเทศได้มุ่งไปสู่ “เศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งความรู้” สำคัญที่กำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ นวัตกรรมและความรู้
ประเทศต่างๆ จึงได้มุ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นต้นว่า ประเทศไทย เดิมมีแนวคิดพื้นฐานว่าคนเป็นเพียงปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งเท่านั้น นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8(ปี 2540– 2544)เป็นต้นมาได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนมาเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ซึ่งใช้ในช่วงปัจจุบัน คือ ระหว่างปี
2550 - 2554 ได้สานต่อแนวคิดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเช่นเดียวกัน โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ความสำคัญลำดับสูงกับการพัฒนาคุณภาพคนในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งทางจิตใจ ร่างกาย ความรู้ และทักษะความสามารถ โดยในส่วนของการพัฒนาเด็กและเยาวชนนั้น มุ่งเน้นเตรียมเด็กและเยาวชนทั้งด้านจิตใจ ทักษะชีวิตและความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต การพัฒนาสมรรถนะและทักษะแรงงาน และเร่งผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ต้องใช้เวลายาวนาน

พัฒนาคุณภาพระบบการศึกษา
จากความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการ หลายประการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ประการแรก พัฒนาระบบการศึกษาของประชาชนให้เป็นเลิศ เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการ
ที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งทางด้านปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยหลักสูตรการเรียนการสอน ควรเน้นกระบวนการพัฒนาเด็กอย่างเป็นบูรณาการในด้านต่าง ๆ เป็นต้นว่า
- ทักษะเพื่อความอยู่รอด หรือที่เรียกว่า Learning to Live
- การพัฒนาปัจเจกบุคคลและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือที่เรียกว่า Learning to Be
- การเรียนรู้ทางวิชาการ หรือที่เรียกว่า Learning to Learn
ปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ตามทฤษฎีซึ่งมีความเชื่อว่าในกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนั้น พวกเขาสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้เอง เปรียบเสมือนกับนักทดลองรุ่นเยาว์ที่สร้างและทดสอบทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเด็กได้มีโอกาสได้สร้างความรู้นั้นด้วยตัวเอง ก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง สามารถจัดระบบโครงสร้างความรู้และมีความสามารถในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยเน้นสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งที่ครูอาจารย์อบรมสั่งสอน ครูควรเป็นผู้ช่วยผู้เรียนให้สร้างระบบความรู้ แต่ไม่ใช่ผู้สร้างระบบนั้นให้ผู้เรียน สำหรับการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น ปัจจุบันได้ริเริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยแล้วโดยคุณพารณ อิศรเสนา เป็นผู้บุกเบิกการเรียนรู้เช่นนี้ในประเทศไทย กล่าวคือ โรงเรียนดรุณสิขาลัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ บริษัทเอกชน ฯลฯ
รูปแบบการเรียนการสอนข้างต้นจะเป็นแบบไม่มีตารางสอน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่แยกส่วนรายวิชาโดยจะเป็นการเรียนแบบเป็นทั้งสถานีวิจัยและเป็นทั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ กลยุทธ์ปรับกระบวนทัศน์ของผู้เรียนยึดหลักผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียนในขณะเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชั้นเรียนแต่จะแบ่ง กลุ่มเรียนตามอายุ

ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ
ประการที่สอง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ ซึ่งนับว่าสำคัญมาก เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ความรู้ที่มีอยู่นั้นล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ถึงกับมีการกล่าวกันว่าตำราที่เขียนขึ้นนั้นได้ล้าสมัยก่อนที่จะพิมพ์จำหน่ายเสียอีก จากแนวโน้มข้างต้น หากต้องการก้าวทันโลกแล้ว จะต้องศึกษาหาความรู้ไม่เฉพาะภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการศึกษาตลอดชีพ โดยสร้างทัศนคติ ให้ประชาชนรักในการอ่านหนังสือและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
ศจ.นพ.เกษม วัฒนชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เคยบรรยายนำในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การปฏิรูปการเรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่” ณ ห้องประชุมศูนย์สารสนเทศ คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2544 ว่าการสอนและการเรียนรู้เปรียบได้กับเหรียญ 2 ด้าน ที่แต่เดิมการศึกษาจะเน้นที่ตัวครูและกระบวนการเรียนการสอน แต่เวลานี้ควรปรับมาเน้นที่การเรียนรู้ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์ เพราะหากการเรียนยังต้องพึ่งพาการสอน เด็กจะเกิดความรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้สอนเท่านั้น แต่การพัฒนาให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จะเป็นการเปิดกว้างที่จะเรียนรู้จากทุกทิศทุกทาง
ขณะเดียวกันแม้การเรียนโดยตรงจากผู้สอนที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันยังสำคัญ แต่การเล่าเรียน แบบขวนขวาย โดยผู้เรียนเองนอกชั้นเรียนนั้นได้ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ดังนั้น ต้องพยายามปรับปรุง การเรียนการสอนเน้นหนักสร้างทักษะเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง แทนที่ครูอาจารย์จะเป็นฝ่ายป้อนให้ โดยครูอาจารย์ต้องแนะนำให้นักเรียนและนักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง


ส่งเสริมความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประการที่สาม ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสนใจศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่า รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าจะเป็นประเทศที่นำหน้าเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันภายใน ปี 2553 จากนั้นตั้งเป้าหมายตามเทคโนโลยีของประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี 2563 และท้ายที่สุดตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านเทคโนโลยี ภายในปี 2592
ปัจจุบันประเทศจีนมีนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยมากถึง 17 ล้านคน ส่วนใหญ่ศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นจุดแข็งสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยแต่ละปีจีนผลิตบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มากถึง 325,000 คน มากเป็น 5 เท่าของสหรัฐฯ และมากเป็น 3 – 4 เท่า ของญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของจีนในแต่ละปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรณีสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับมีจำนวนลดลงตามลำดับ

พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ประการที่สี่ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันการศึกษาของหลายประเทศ รวมของประเทศไทยด้วยเป็นระบบที่เน้นป้อนความรู้ในเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ มากกว่าจะเป็นระบบที่พยายามกระตุ้นให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นต้องพัฒนาโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้โดยการค้นคว้า การถกเถียง โดยให้เหตุผล และหลักฐาน

สร้างความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรม
ประการที่ห้า พัฒนาทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัฒน์ถาโถมเข้ามา ทำให้เด็กและเยาวชนในปัจจุบันหันเข้าหาวัตถุนิยมและบริโภคนิยมมากขึ้น ดังนั้น การเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรมจะเปรียบเสมือนเป็นภูมิคุ้มกันทางด้านวัฒนธรรม ทำให้เด็กและเยาวชนมีจุดยืน ในชีวิต มีหลักคิด หลักปฏิบัติที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
สำหรับกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันสถาบันทางสังคม อาทิ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษาและชุมชน นับว่ามีบทบาทน้อยลงในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาศักยภาพ เด็กและเยาวชนซึ่งนิยมใช้ชีวิตยามว่างตามห้างสรรพสินค้า ใช้โทรศัพท์มือถือและคุยผ่านอินเทอร์เน็ต
ทิศทางในอนาคตจะต้องให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบ ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งรักและตระหนักถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ไทย โดยจะต้องรู้จักประวัติศาสตร์และความเป็นมาของตนเอง ของครอบครัว ของสังคมไทย และของประเทศชาติ ตลอดจนความสามารถ ในการแยกแยะและเลือกรับวัฒนธรรมของต่างชาติ
นอกจากนี้ จะต้องเสริมสร้างค่านิยม และทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและมีความภาคภูมิใจ ในการทำงานสุจริต มีทักษะที่เหมาะสม และมีการเตรียมความพร้อมในการประกอบสัมมาชีพ รวมถึงการใช้หลักธรรมของแต่ละศาสนา เพื่อพัฒนาจิตใจและเยาวชน โดยการเน้นการเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา มากกว่าการงมงายกับเรื่องไร้เหตุผล

ส่งเสริม EQ เพื่อความฉลาดในอารมณ์
ประการที่หก ส่งเสริมความฉลาดในอารมณ์ (Emotional Quotient – EQ) ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 2 กลุ่ม คือ ทักษะในด้านการบริหารจัดการตนเอง (Self – Management Skills) และทักษะในด้านบริหารปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (Relationship Skill) ซึ่งนับว่าเป็นทักษะในการบริหารจัดการตัวเราเอง และทักษะ ในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นๆ นับว่าสำคัญมากต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน รวมถึงต่อความสุขและความสำเร็จในชีวิตประจำวัน
EQ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกับ Intelligence Ouotient (IQ) หรือความฉลาดทางสติปัญญา บางคนถึงกับเห็นว่า EQ สำคัญกว่า IQ ด้วยซ้ำ เนื่องจากกรณีเป็นคนฉลาดหลักแหลมนั้น หากไม่มี EQ เสียแล้วก็จะประสบปัญหามากมาย เป็นต้นว่า เกียจคร้านในการทำงาน มีพฤติกรรมต่อต้านองค์กร มีทัศนคติในแง่ลบ อยู่เสมอว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ชอบนินทาว่าร้านคนอื่น ชอบปล่อยข่าวลือไร้สาระ ฯลฯ ในที่สุดก็จะกลายเป็นตัวสร้างปัญหาขององค์กรและจะต้องถูกไล่ออกจากบริษัท
สำหรับการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะเกี่ยวกับ EQ นั้น สถาบันการศึกษาต้องปรับปรุงแบบการศึกษา จากเดิมที่เป็นการเรียนแบบท่องจำ ซึ่งมุ่งเน้นเพิ่ม IQ แต่เพียงอย่างเดียวก็ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบใหม่ โดยเปิดให้นักศึกษามีโอกาสพูดและแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษามีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันเองเพื่อฝึกฝนทักษะ EQ พร้อมกันไปด้วย

ส่งเสริมทัศนคติที่จะเป็นเถ้าแก่
ประการที่เจ็ด พัฒนาความคิดอ่านของประชาชนให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneur) ซึ่งนับว่า
สำคัญมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ผู้ประกอบใหม่การเหล่านี้ได้ก่อตั้งธุรกิจเทคโนยีสูงจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี เช่น ไมโครซอฟต์ อินเทล ซิลโก้ กูเกิล อเมซอน ฯลฯ
ปัจจุบันหลายประเทศได้เน้นพัฒนาในด้านนี้มาก เป็นต้นว่า กรณีของสิงคโปร์ โดยนายลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้เคยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 ว่าปัญหาสำคัญของสิงคโปร์ คือ บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมักเลือกที่จะมาทำงานด้านการเมือง หรือมิฉะนั้นก็เป็นข้าราชการพลเรือนหรือทหาร หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน มีน้อยมากที่เลือกตั้งตัวเองเป็นเถ้าแก่หรือผู้ประกอบการใหม่

การพัฒนาระบบการศึกษาตามมาตรการทั้ง 7 มาตรการนั้น เป็นมาตรการสำคัญที่หลายประเทศ
ได้นำใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งประเทศของเราน่าจะนำไปใช้ เพราะการพัฒนามนุษย์เป็นเรื่อง
ที่มีความสำคัญ จะทำงานทุกด้านต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์เป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นวาระแห่งชาติที่พวกเราควรที่จะนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมที่แท้จริง เพื่อประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

นายจารุพงศ์ พลเดช
ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
บันทึกความทรงจำ
9 ตุลาคม 2551

No comments: