September 3, 2009

สำนักงาน ก.พ.คลอดเกณฑ์ประเมินผลงานฯใหม่ 1ต.ค.นี้

นศ. M.Ed. -SJU ที่เรียนวิชา HRM in Ed. เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจถ้าอยู่ในองค์กรภาครัฐ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
4 ก.ย.52

**********************

เลขาฯ ก.พ.ลงนามเกณฑ์ประเมินผลงาน ขรก.ใหม่แล้ว เริ่มใช้ 1 ต.ค.นี้ เผยรายละเอียดยิบ มี 2 รูปแบบ 3 ตัวชี้วัด 5 ระดับ ให้เพื่อนร่วมงานช่วยประเมินด้วย ขรก.เจ๋งมีสิทธิขึ้นปีละ 12% แต่ถ้างานห่วย-ได้คะแนนไม่ถึง 60% ชวดอัพเงินเดือนทันที

นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ลงนามในหลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้ว เมื่อวันที่ 3 กันยายน หลังจากนี้สำนักงาน ก.พ.จะส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกส่วนราชการต่อไป เพื่อให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนให้แก่ข้าราชการในสังกัดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป

นายปรีชาให้สัมภาษณ์ถึงหลักเกณฑ์ในรายละเอียดว่า ในการปรับเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการแต่ละปี ข้าราชการมีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนสูงสุดถึงร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 8 โดยแบ่งการประเมินผลการปฏิบัติราชการออกเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 มีนาคม มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนสูงสุดที่ร้อยละ 6 รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนสูงสุดอีกร้อยละ 6 นั่นหมายความว่าข้าราชการทุกคนจะต้องเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราใหม่วันที่ 1 เมษายน 2553

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนจะได้รับการเลื่อนเงินเดือนเท่ากัน เพราะหลักเกณฑ์การประเมินผลของ ก.พ. จะแบ่งการวัดประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับดีเด่น 2.ระดับดีมาก 3.ระดับดี 4.ระดับพอใช้ และ 5.ระดับต้องปรับปรุง หากผลประเมินข้าราชการคนใดอยู่ในระดับ "ต้องปรับปรุง" ก็จะหมดสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนในครึ่งปีนั้นๆ แต่ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติราชการที่สำนักงาน ก.พ.ออกมาเป็นเพียงการประเมินตัวข้าราชการเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานเพื่อขอรับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี (โบนัส) แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาจาก 2 องค์ประกอบหลักคือ องค์ประกอบด้านผลสัมฤทธิ์ของงาน และองค์ประกอบด้านพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ หรือสมรรถนะ ทั้งนี้ ก.พ.ได้กำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการไว้ 3 ส่วน คือ 1.งานที่ปรากฏในคำรับรองการปฏิบัติราชการ หรือเรียกว่า "งานยุทธศาสตร์" 2.งานตามหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวง กรม จังหวัด สำนัก หรือที่เรียกว่า "งานตามภารกิจ" และ 3.งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำเป็นพิเศษ เช่น โครงการต่างๆ สำหรับรูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการจะไม่ตายตัว ซึ่ง ก.พ.ได้เสนอรูปแบบให้ส่วนราชการนำไปปรับใช้ 2 รูปแบบ คือ 1.การประเมินสมรรถนะด้วยวิธี 360 องศา คือให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน 3 คน ผู้ใต้บังคับบัญชา และตัวข้าราชการเองเป็นผู้ประเมินตนเอง 2.การประเมินโดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ประเมิน โดยสังเกตจากพฤติกรรมการแสดงออกที่เห็นได้ชัดแล้วนำไปเทียบกับมาตรวัดสมรรถนะกลาง ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนราชการต่างๆ ว่าจะเลือกใช้รูปแบบใด

ส่วนการประเมินผลจะจัดข้าราชการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มข้าราชการทั่วไป คะแนนผลการปฏิบัติราชการจะถูกจัดออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับดีเด่น ระดับดีมาก ระดับดี ระดับพอใช้ และระดับต้องปรับปรุง ซึ่งการกำหนดแต่ละช่วงคะแนนให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการ แต่ถ้าข้าราชการคนใดมีคะแนนประเมินต่ำกว่าร้อยละ 60 (ระดับพอใช้) จะหมดสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนในรอบปีงบประมาณนั้นๆ และ 2.กลุ่มข้าราชการทดลองงาน จะวัดประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการเพื่อประเมินว่าผ่านการทดลองงานหรือไม่เท่านั้น โดยผู้ที่จะผ่านการทดลองงานได้ต้องมีคะแนนประเมินมากกว่าร้อยละ 50

ข่าวจาก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 07:44:52 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1252025243&grpid=03&catid=00

No comments: