April 8, 2009

บทเรียนจากบริษัทชั้นนำอันดับ 1 โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

หลายๆ ครั้งที่ผู้เขียนมักจะถูกCEO หรือ MD ของธุรกิจในบ้านเราที่ผู้เขียนได้สนทนาทั้งในช่วงของการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ หรือระหว่างที่เป็นวิทยากรนำสัมมนาด้านการจัดทำแผนกลยุทธ การสร้างและสื่อสารคุณค่าขององค์กร รวมถึงมิติใหม่ด้านการบริหาร HR ที่เรียกว่า ทุนทางปัญญา

คำถามหลักเลยที่มักจะถูกถามเสมอๆ คือ
“แนวคิดสมัยใหม่หรือเครื่องมือทางธุรกิจใหม่ๆ มีบริษัทคนไทยหรือในประเทศไทยที่ไหนทำสำเร็จแล้วบ้าง?!!”

“องค์กรที่บริหาร HR ได้ดีที่สุดในบ้านเรา อาจารย์คิดว่าเป็นบริษัทใดหรือบริษัทไหนที่น่าจะไปศึกษา”

ผู้เขียนยังจะไม่ตอบคำถามข้างต้นนี้ แต่อยากจะยกกรณีตัวอย่างหรือแนวคิดที่ผู้เขียนดำเนินการในฐานะผู้นำด้านการจัดการสมัยใหม่ ทั้งด้านกลยุทธธุรกิจ ภาวะผู้นำและการปรับเปลี่ยนองค์กร การบริหาร HR

ประการแรก ธุรกิจจะก้าวสู่การเป็นผู้นำต้องกล้าที่จะเสี่ยง

จุดเริ่มแรกเมื่อทศวรรษกว่ามาแล้ว ผู้เขียนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวชั้นนำของประเทศไทย เนื่องมาจากประเด็นท้าทายของธุรกิจในขณะนั้น
- CEO ของกลุ่มบริษัทฯ ดังกล่าวได้ถามผู้เขียนว่า ในปัจจุบันนี้มีแนวคิดหรือวิธีการอะไรที่ธุรกิจระดับโลกกำลังดำเนินการกันอยู่ ผู้เขียนจึงถามกลับไปว่า แล้วที่กลุ่มบริษัทฯ นี้ได้ทำอะไรมาบ้าง
คำตอบที่ได้ ซึ่งก็จะเหมือนหลายๆ บริษัทคือ ทำมาหลายเครื่องมือทางธุรกิจแล้ว แต่ขณะนี้จัดทำในเรื่องการวิเคราะห์ธุรกิจและการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)
-ผู้เขียนจึงบอกไปว่า น่าจะเชื่อมต่อไปสู่ การวัดธุรกิจด้วย Balanced Scorecard แต่ขอให้ใช้ KPIs (Key Performance Indicators) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จเป็นตัวนำธุรกิจ
-CEO ของกลุ่มบริษัทฯ บอกว่า น่าสนใจ อย่างนั้นมาวางแนวทางและ กำหนดรูปแบบดำเนินการเรื่อง KPIs กัน
ข้อสรุปที่สำคัญคือ ไม่ได้คุยกันหรอกครับว่ามีที่ไหนในเมืองไทยทำเรื่องนี้มาก่อน หรือมีใครทำมาบ้าง แต่สิ่งที่คุยกันเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ การปรับให้เหมาะสมและพัฒนาให้ใช้ได้อย่างทั่วไป และทำได้จริงๆ ก่อน

- ธุรกิจชั้นนำหรือยักษ์ใหญ่ในประเทศจะเพิ่งรู้จักหรือยังไม่รู้เลยว่า BSC & KPIs คืออะไร

ประการต่อมา การเป็นผู้ตาม (Follower) แม้จะเป็นต้นทุนที่ต่ำและเห็นข้อดีข้อเสีย แต่ไม่สามารถเป็นผู้สร้างสรรค์เกมธุรกิจได้

ผู้เขียนเชื่อว่า CEO ที่มีลักษณะของการเป็นผู้ทำธุรกิจแบบผู้ตาม (Follower) จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นอย่างมากในหลายๆ กรณี อาทิ
-ไม่มีความเสี่ยงในการที่จะเป็นผู้ริเริ่มหรือผู้นำทางธุรกิจในด้านการลงทุนที่สูง การลองผิดลองถูกจนกว่าจะเห็นผลสำเร็จ
-เป็นการประหยัดต้นทุนทั้งกำลังความคิด กำลังแรงและที่สำคัญกำลังเงิน เพราะถ้าเห็นสิ่งนี้ไม่มีโอกาสสำเร็จก็จะได้ไม่ดำเนินการ หรือพยายามศึกษาหาข้อบกพร่องแล้วปรับปรุงหรือนำเฉพาะส่วนที่ดีมาใช้

- ยังได้คุณประโยชน์ในการสร้างภาพอีกว่า ได้ดำเนินการในสิ่งที่ธุรกิจชั้นนำของประเทศทำ เราก็เป็นธุรกิจที่ทันสมัยและทำในสิ่งนั้นด้วย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในทัศนะของผู้เขียน สำหรับ CEO หรือธุรกิจแบบผู้ตามคือ
-การเป็นผู้ตามในความสำเร็จของคนอื่นหรือธุรกิจอื่น มีโอกาสน้อยมากที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ (Leader)

-และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นการศึกษาบริษัทชั้นนำในธุรกิจบ้านเรา อาจจะไม่มีคุณค่าหรือประโยชน์อะไรเลยสำหรับธุรกิจในศตวรรษที่ 21 เพราะทุกอย่างอยู่ในโลกาภิวัฒน์ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องเป็น “ผู้สร้างสรรค์เกมธุรกิจ” (Play Maker)
คอลลินส์ ได้สรุปบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะต้องเป็นบริษัทที่
-กล้าที่จะเปลี่ยน
-กล้าที่จะอยู่และล่มสลายไปกับองค์กรนี้
-ลองหลายๆ อย่างและเก็บเฉพาะอย่างที่ใช้ได้
-ใช้มันสมองจากพนักงานภายในด้วยกันเอง
-ไม่มีคำว่าสำเร็จแล้ว แต่สร้างความเติบโตก้าวหน้า

ประการสุดท้าย เรียนรู้จากบริษัทชั้นนำอันดับ 1
ผู้เขียนมักจะบอกกับ CEO หรือ MD หลายๆ ธุรกิจให้มองข้ามบริษัทยิ่งใหญ่ในประเทศได้แล้ว แต่ให้มีสายตาที่แหลมคมมองหาบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ของโลกในแต่ละด้านแล้วศึกษาความสำเร็จดังกล่าว
มีรายงานล่าสุดจากบริษัทดิสเพลย์เสิร์ซ์ (บริษัทวิจัยระดับโลก) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.49 ในไตรมาส 3 ซัมซุงอิเลคทริกส์ มียอดจำหน่ายและรายได้มากที่สุดในตลาดโทรทัศน์ทั่วโลก
“ซัมซุงสามารถกวาดส่วนแบ่งทางด้านรายได้ในตลาดโทรทัศน์ทั่วโลกติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยทำยอดขายได้ในยุโรปมากเป็นอันดับ 1 และในอเมริกาเหนือ”
ขณะที่ด้านรายได้ซัมซุงสามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ทั้งในตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ (นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ธ.ค.49 หน้า A16)

สิ่งที่ผู้เขียนอยากบอกผู้บริหารธุรกิจ หรือผู้ที่สนใจพัฒนาองค์กรคือ
-ซัมซุงมีนโยบายเรียนรู้จากบริษัทอันดับหนึ่ง เพราะหัวใจของการบริหารคือ ต้องพยายามหาคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษเฉพาะเหล่านี้ พร้อมทั้งรวมพลังไปพัฒนาจุดพิเศษเหล่านี้ขึ้นมา

-ซัมซุงได้ศึกษาความสำเร็จด้านผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าของ SONY และ Panasonic และยังได้ศึกษา

ศึกษาอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์จากบริษัท Toray เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์โพลิเอสเตอร์ ยางไม้สังเคราะห์ ฟิล์มและเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

ศึกษาระบบคลังสินค้าจาก Westing House เนื่องจากมีความสำเร็จด้าน ERP (Enterprise Resource Planning) และ FedEx (มีระบบรหัสบาร์โค้ด)

ศึกษาห้าง Nosdstorm ที่มีชื่อเสียงในด้านการบริการลูกค้า

ศึกษา HP เรื่องการบริหารการผลิตและระบบการจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์

ศึกษา การสถาปนานวัตกรรมใหม่ๆ จากโมโตโรร่าและ 3M

ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบได้ดีว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะศึกษาเครื่องมือการจัดการจากบริษัทชั้นนำในระดับท้องถิ่นที่ทำอะไรไว้บ้าง ถ้าธุรกิจท่านอยากเป็น “ผู้สร้างสรรค์เกมธุรกิจ” ขอให้มองบริษัทชั้นนำอันดับ 1 (ของโลก)”


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: