April 8, 2009

ดังกระหึ่ม! ประเทศไทย โดยดร.ดนัย เทียนพุฒ

ฉับพลันสุวรรณภูมิเปิดโชว์ว่าสามารถทำการได้ในอันที่จะมี เครื่องบินขึ้นลงหรือน่าจะเข้าไปแข่งขันในภูมิภาคนี้ได้(เฉพาะสนามบิน) เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินทาง เช่น รถไฟฟ้าจากตัวเมืองไปยังสนามบินยังอยู่ในช่วงเปิดประมูลก่อสร้าง? แต่ที่แปลกใจคือที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งคงมีเจ้าของเพียงไม่กี่ราย ปรากฏว่าจะได้ยกฐานะกลายเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทยไปได้อย่างรวดเร็ว (ปัจจุบันตกกระป๋องไปแล้ว)แต่จะว่าไปแล้วในต่างประเทศเช่นที่ เยอรมนี สนามบิน Frankfurt หรือ ที่ปารีส (Charles de Gaulle) อาคาร 1 ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่า ทั้งการเดินทาง และรถรับส่งที่สนามบินไม่ถูกขูดซิบๆ แบบที่ไหน หนอ.......


ขณะเดียวกันกว่าจะกลับมาใช้ดอนเมืองใหม่อีกทีก็ทำแบบขอไปที่คือตารางการบินทำเหมือนไม่ให้คนอยากมาเดินทาง ทั้งเช้ามากและดึกมาก (แต่ก็ยังดีกว่าเดิมที่ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของใครที่ให้ปิดสนามบินดอนเมืองแล้วเอาไปทำตลาดขายสินค้า ) ถ้าผู้รับผิดชอบมีความรู้เรื่องระบบขนส่งทางอากาศที่ดีเขาจะรู้ว่า บรรดาเมืองที่เป็น “Global City” (มหานครที่เป็นศูนย์กลางของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เขาไม่ได้มีสนามบินเพียงสนามเดียวหรอก! เช่น ลอนดอนจะมีสนามบิน Heathrow, Luton, Gatwick, London City, Stansted นิวยอร์ค จะมีสนามบิน JFK (John F Kennedy International Airport), Newark International, BUF (Buffalo-Niagara, International), La Guardia Airport
อย่างนี้ทำให้คิดถึงสุภาษิตไทยโบราณที่บอกว่า “บรรดาเรือดีไม่ไปเอามาขี่ข้าม แต่ไปเอาเรือรั่วเรือผุมาข้ามขี่”


สิ่งที่เศร้าใจมากๆ ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะกับอนาคตของชาติหรืออนาคตเด็กไทย อยากนำผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานในปีการศึกษา 2548 หรือที่เพิ่งเป็นปัญหาฮือฮามากในยุคปฏิรูปการศึกษาไทยปีที่ผ่านมา โดยชาวบ้านหรือเด็กนักเรียนเรียกกันว่า “โอเน็ต” ซึ่งคะแนนรวมโดยเฉลี่ยปรากฏว่าเด็กไทยเราสอบตกครับไม่ถึง 50% และถ้าคำนวณแบบหยาบ (เพราะไม่มีข้อมูลดิบ) ค่าเฉลี่ยจาก 5 วิชา คือภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ อยู่ที่ 36.8 คะแนน โดยที่
วิชาภาษาไทย เด็กสอบ 310,498 คน คะแนนเฉลี่ย 48.68
วิชาสังคมศึกษา เด็กสอบ 311,491 คน คะแนนเฉลี่ย 42.69
วิชาวิทยาศาสตร์ เด็กสอบ 316,277 คน คะแนนเฉลี่ย 33.94
วิชาภาษาอังกฤษ เด็กสอบ 317,507 คน คะแนนเฉลี่ย 30.18
วิชาคณิตศาสตร์ เด็กสอบ 317,982 คน คะแนนเฉลี่ย 28.74

ขณะที่ในปีนี้ยังไม่เห็นภาพคะแนนรวมว่าเป็นอย่างไร แต่เด็กก็มีปัญหาในการสอบเข้ามหา'ลัยโดยเฉพาะการเลือกคณะเพราะคะแนนปีที่แล้วไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ทำให้เด็กบางส่วนต้องไปเสียเงินสมัครมหา'ลัยเอกชนกันเอาไว้ก่อน


ประการแรก เราจะก้าวไปสู่โลกใหม่แห่งสีสันทางวิทยาศาสตร์
ระหว่างที่ผู้เขียนเคยเห็นโฆษณางาน ICT EXPO ที่บอกว่าจะมีสุดยอดเทคโนโลยีอย่างนั้นอย่างนี้ เราคงชื่นชมเฉพาะแต่โฆษณาตามที่เห็น ท่านที่สนใจจะไปดูต้องเข้าใจนะครับว่า งานของเราเพิ่งเริ่มต้นอย่าคาดหวังอะไรมากแบบที่เขาจัดกันในแฟรงเฟริต์หรือเซี่ยงไฮ้ เช่น งาน CEBIT
เมื่อมองดูตัวเลขคะแนนเด็กไทยที่จบ ม.6 แล้วตื่นเต้นกับฝันด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศเราครับ
# คณิตศาสตร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรากฐานทางวิทยาศาสตร์ เด็กเรามี
คะแนนเฉลี่ยแค่ 28.74 ซึ่งต่ำมากและต่ำที่สุดในทั้ง 5 วิชา
# วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน มีคะแนนเฉลี่ยเพียง 33.94 เท่านั้นเอง
ลำพังแค่ 2 วิชานี้ก็บอกอนาคตเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของประเทศได้ชัดเจนเพียงพอเลยว่าจะก้าวไปทางไหน
ขณะเดียวกันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมคนไทยหรือสังคมไทยจึงเชื่อในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
# การไม่มีหลักเหตุและผลคือ มีใครพูดกรอกหูเราหรือโฆษณาทางทีวีและวิทยุบ้านเมืองเราดีเพราะนโยบายในเรื่องนั้นเรื่องนี้จึงทำให้คนเชื่อได้ง่าย ก็เพราะคนของเราดูจะมีเหตุมีผลน้อย ซึ่งตัวเลขคะแนนเฉลี่ยจากวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์บอกให้เห็นได้ดีทีเดียว
# ผลต่อเนื่องตามมาคือ เราจึงคิดอะไรไม่เป็นระบบหรือขาดตรรกของความคิด ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้หรือความจริงมาตอบคำถามในข้อที่สงสัยหรือปัญหาของสังคมได้
ซึ่งคล้ายๆ กับว่าเรายังอยู่ในโลกแบบ (The World is Flat) จริงๆ คือ เห็นอะไรก็
เชื่อและก็คิดได้ตามที่บอกให้ฟังเท่านั้น ไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้
# การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอกเราทำได้ยากมากและคงจะลำบากทั้งๆ ที่ความรู้จรดอยู่แค่ปลายนิ้วจากโลกอินเตอร์เน็ต แต่จะมีประโยชน์อะไรล่ะครับ! ถ้าดูจากคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษคือมีเพียง 30.18 คะแนนเท่านั้น
ทั้ง 3 อย่างข้างต้นนี้จึงทำให้ผู้เขียนมีสมมติฐานเลาๆ ในจิตใจได้ว่า ทำไมการศึกษา เยาวชนจึงหลงทางกันค่อนข้างน่าเป็นห่วง

ประการต่อมา Reality Show สร้างสรรค์หรือทำลาย?
รายการ Reality Show ในช่วงแรกๆ หรือเริ่มต้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่พอนานๆ ไปสิ่งนี้กลายเป็นอะไร
# ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับผู้จัดรายการทั้งที่มีในระหว่างจัดรายการ เช่น ค่าโทรเข้าไปโหวต การสร้างรายได้จากนักร้องใหม่และอื่นๆ อีกมากมาย
# สิ่งนี้เกิดผลกระทบกับเยาวชนและคนทำงานหนุ่มสาวให้มีทัศนคติใหม่ที่ถือเป็นอุดมคติ หรือวิถีแห่งการดำเนินชีวิตในสังคมบริโภคนิยม สื่อสารนิยม (โทรศัพท์ตลอดเวลาจนกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของวัยรุ่นไทย) การนับถือคนรวย กังฉิน
แต่ถ้าทุกท่านได้มีโอกาสดูรายการ Reality Show : The Apprentice ของ Martha Stewart ในการคัดคนเข้าทำงานโดยพิจารณาจากงานที่มอบหมายให้ทำจริงๆ ในธุรกิจ แล้วพิจารณาเรื่องของหัวหน้าทีม (Project Manager) การทำงานเป็นทีม ความสำเร็จของกิจกรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น Reality Show ที่ให้บทเรียนที่ดีในการอยู่ในสังคม การทำงานได้เรียนรู้ถึงการนำความรู้จากที่เรียนมาประยุกต์ใช้ ผู้เขียนได้ดูในคืนวันที่ 5 ส.ค.49 รู้สึกน่าสนใจมากและที่ทึ่งมากๆ คือ คนที่เข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้ชนะเลิศต่างมีงานทำ เป็นนักธุรกิจและเจ้าของกิจการ ซึ่งหลายคนเดินออกจากเวทีชีวิตจริงในโลกการแข่งขัน
สังคมและประเทศที่เจริญกว่า ก็เป็นเช่นนี้ล่ะครับ!


ประการสุดท้าย ผู้เขียนนึกถึงสิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่า “การศึกษาบ้านเราเหมือนสุนัขหางด้วนที่วิ่งไล่งับหางมันเองหรือไล่งับเงาตัวมัน”
........การศึกษาบ้านเราที่มีมาตรฐานการศึกษา เน้นแต่บริหารจัดการด้านธุรการ เอกสารของสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน ที่จะต้องมาประเมินตนเอง สร้างเกณฑ์บ่งชี้ แต่การพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยดูจากคะแนนเฉลี่ยตกนี่สลดใจจริงๆ ครับ
........การศึกษาที่มีการรับประกันความสำเร็จ ซึ่งเราชื่นชมกันนักหนาสุดท้ายก็ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลขจัดให้ หรือให้ได้ผลที่ดี แต่เด็กไทยสอบคะแนนเฉลี่ยตกทั้ง 5 วิชา เป็นความล้มละลายทางการศึกษาของชาติอย่างสมบูรณ์แบบ
.......ทุกท่านต้องทราบว่า คะแนนโอเน็ตนี้ เป็นการวัดความรู้ตามที่เรียนในตำรา จึงเป็นข้อสอบที่ไม่ยากเย็นอะไรเพราะมีคนได้เต็ม 100 ซึ่งมีในหลายวิชา

ทำให้ตีความได้ว่าคุณภาพการศึกษาเด็กไทยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยลงไปอีก เราก็เลยไม่รู้ว่ามาตรฐานการศึกษาที่ว่านี้จะเป็นชาตินี้หรือชาติไหน คงต้องรอดูคะแนนปีนี้ละครับ ถ้าค่าเฉี่ยนดีขึ้นก็นับเป็นบุญประเทศไทย แต่ถ้ายังดิ่งเหวลงไปอีก นี่คือความกระหึ่มที่ดูวังเวงของประเทศไทย

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: