April 8, 2009

อย่างไรจึงจะเรียกว่า “กูรู” โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

ในทุกวันนี้ดูบ้านเมืองของเรายิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และที่ดูจะยุ่งยากและสับสนกันมากกว่าคือ บรรดาผู้รู้ทั้งหลาย (รู้จริง รู้บ้าง รู้ครึ่งๆ กลางๆ หรือรู้สารพัด ฯลฯ) จะตระหนักในความรับผิดชอบที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ในทุกๆ เรื่องที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวันตามเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนต่างๆ


ประเด็นแรก ความลุ่มลึกในสิ่งที่เขียนของนักคิด นักวิจารณ์ ในบ้านเรา
ถ้ามีโอกาสได้อ่านบทวิเคราะห์หรือการสัมภาษณ์ให้ความเห็น ซึ่งในปัจจุบันดูจะมีอยู่ 3 ค่ายคือ

ค่ายแรก เป็นฝ่ายนโยบายของบ้านเมืองที่กำหนดวิธีการตามกฎหมายหรือการปฏิบัติงานบ้านเมืองตามกฏหมาย กับพวกที่เป็นลักษณะของ “ใช่ครับ” ก็จะดาหน้ากันออกมาสนับสนุนหรืออาจจะถึงขั้น “ชเลียร์ กันเลยก็มี

ค่ายที่สอง เป็นค่ายของฝ่ายที่ทำหน้าที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งจะมีจุดยืนชัดเจนเพราะชื่อก็บอกแล้วว่า “ไม่เห็นด้วย” จึงต้องไม่เห็นด้วยทุกเรื่องทุกอย่างที่ฝ่ายแรกคิดและทำออกมาในสังคมไทย คงเป็นที่เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่าเป็นอย่างไร

ค่ายที่สาม เป็นซีกนักวิชาการ ซึ่งก็มีทั้งนักวิชาการจริง นักวิชาการอิสระ และปัจจุบันยังมีชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่น “ขาประจำ” “กำมะลอ”

กับกลุ่มสุดท้าย ไม่น่าจะเป็นค่ายแต่เป็นลักษณะพวกอิสระหรือวิพาษ์วิจารณ์ไปตามกระแสสังคมหรือดูทีท่าว่ากระแสไหนแรงก็โดดเข้าสู่กระแสนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มรายงานข่าว วิเคราะห์ข่าว ฯลฯ


ที่กล่าวมาข้างต้นดูจะเป็นกระแสของความคิดเห็นในบ้านเมืองไทยเรานี้ที่ค่อนข้างจะมีอิทธิพลทางความคิด หรือสร้างสิ่งที่เป็น “Talk of the Town” พูดง่ายๆ คือ ทำให้มีการพูดคุยกันสนั่นเมืองนั่นเอง ส่วนผลประโยชน์หรือการได้เสียจะเป็นอย่างไรคงจะพิเคราะห์ได้ยากเพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องขวาหรือเบื้องขวาง


การนำเสนอทัศนะหรือความเห็นคงต้องมีสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้เป็นแนวทางที่พึงยึดถือ อาทิ
(1) การนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ทางสังคมหรือประเทศชาติ ควรมีตรรกของความคิด มีการสืบค้นข้อมูลอย่างเพียงพอ หรือเป็นการจุดให้เกิดความคิด หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจ
สิ่งนี้น่าจะดีกว่า การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นบนสำนึกส่วนบุคคล หรือการมีอคติหรือจิตใจคับแคบเป็นฐานในการแสดงความคิดเห็นหรือทัศนะต่างๆ ออกมาปรากฏเป็นสาธารณะ
(2) กรณีของสื่อมวลชนที่เสนอข่าวนั้นเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์บางส่วนกลับทำบนฐานวิชาการหรือฐานความรู้ที่ไม่มากนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ
- ต้องเขียนทุกวันจึงจับเพียงบางประเด็นแล้วก็ตีให้ฟุ้งกระจาย โดยดูกระแสสังคมว่าสนใจไหมถ้าสนใจก็จะขยายผลให้นานหน่อยถ้าหมดความสนใจก็เปลี่ยนเรื่องใหม่
- เป็นการขายความสนใจของกระแสสังคม ทั้งนี้เพราะสื่อมวลชนทำหน้าที่เสนอข่าว แต่ความอยู่รอดก็มาจากโฆษณาที่บ่งบอกถึงชะตาชีวิตและความเป็นไปของสื่อนั้นๆ


ตรงนี้จึงต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพมาเป็นกรอบหรือหลักยึดถือปฏิบัติ มิฉะนั้นสื่อดังกล่าวก็จะไม่มีคุณค่าใดๆ ต่อสังคมเลย ซึ่งอาจจะเป็นสื่อที่ขายเพียงหน้าโฆษณารับสมัครงาน ขายข้อคิดของนักวิชาการหอคอยงาช้างจากสถาบันการศึกษา หรือชเลียร์เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีงบโฆษณามหาศาลต่อสื่อนั้นๆ


ประเด็นต่อมา “กูรู” คืออะไร
สื่อมวลชนหลายฉบับดูจะชื่นชมกับการหาคำอะไรก็ได้มาให้สะดุดใจหรือกระตุ้นการซื้อสื่อนั้นๆ ไปอ่าน ดังนั้นคำฮิตในปัจจุบันดูจะไม่พ้นคำว่า “กูรู” (Guru)
ถ้าจะดูศัพท์ตามดิกชันนารีทั่วๆ ไปจะพบว่า หมายถึง ครู ซึ่งน่าจะเป็นการให้ความหมายที่ขั้นต้นของคำๆ นี้
แต่ถ้าพิจารณาในทฤษฎีการจัดการธุรกิจหรือสื่อมวลชนระดับนานาชาติ จะมีการอธิบายหรือให้ความหมายที่สูงขึ้น เช่น
# คำว่ากูรู จะถือว่าเป็นปรมาจารย์ที่ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไม่เพียงแค่ประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีความเป็นสากลและเป็นผู้รู้อย่างลึกซึ้งในสาขาหรือแขวงวิชานั้นๆ อย่างแท้จริง และยังต้องเป็นข้อความรู้ที่สามารถใช้ได้อย่างทั่วไปด้วย
# บุคคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นกูรู จะต้องมีทฤษฎี (Theory) เป็นของตนเอง และเป็นทฤษฎีที่มีการใช้หรือนำไปศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วย หากเป็นเพียงแนวคิด (Concept) หรือหลักการ (Principle) อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการถูกเรียกขานว่าเป็น “กูรู”
ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง 2 ข้อเสนอเชิงความรู้ข้างต้นคือ สิ่งที่ถือเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ยอมรับได้ในการที่จะเรียกใครว่าเป็น “กูรู”
ตัวอย่างของบุคคลที่เรียกว่า กูรู เช่น ปีเตอร์ ดรักเกอร์ จะถูกเรียกขานว่าเป็น กูรูของกูรู” หรือสุดยอดปรจารย์ด้านการจัดการ ทั้งนี้เพราะสร้างทฤษฎีหรือปรัชญาทางการจัดการไว้มากมาย อาทิ หลักการของหน้าที่การบริหาร ทฤษฎีการจัดการในเรื่องการบริหารโดยยึดเป้าหมาย การบริหารมุ่งผลลัพธ์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ บัญญัติคำว่าคนทำงานที่มีภูมิรู้ (Knowledge Worker) และสังคมแห่งการเรียนรู้
หรือในระยะหลังๆ จิม คอลินส์ ก็ถูกเรียกขานว่าเป็น “กูรู” ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากโด่งดังมาจาก การวิจัยทางธุรกิจในเรื่อง “อุดมคติหลักขององค์กร” และล่าสุดในเรื่อง “จากบริษัทที่ดีสู่การเป็นบริษัทที่ดีที่สุด” กับ “ระดับ 5 ของภาวะผู้นำ”


ประเด็นสุดท้าย แล้วใครไม่ใช่ “กูรู”
ในทัศนะของผู้เขียนหากใช้ข้อเสนอเชิงความรู้ข้างต้นเป็นแนวทางการพิจารณาจะพบคำตอบได้ว่า
(1) สิ่งที่สื่อมวลชนบางฉบับระบุบุคคลนั้น บุคคลนี้ หรือวิทยากรท่านนี้เป็น ”กูรู” ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพียงสร้างกระแสของการขายข่าว หรือสร้างจุดขายโปรแกรมสัมมนาเสียมากกว่าที่จะตั้งใจให้การยอมรับจริงๆ หรือรู้ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าไม่ใช่
(2) เราจะไม่ใช้คำว่า “กูรู” กับนักบริหาร (Executive) หรือ “เจ้าของกิจการ” (Entrepreneur) อันนี้เป็นหลักการหรือข้อตกลงเบื้องต้นที่ต้องรู้และมิอาจปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้
ตัวอย่างเช่น กรณีของแจ็ค เวลซ์ ไม่ถือเป็น “กูรู” แม้ว่าจะมีแนวคิด หลักการ อะไรที่เคยทำสำเร็จมากมายในขณะอดีตจะเรียกว่าเป็นเพียง “Doctrine” เช่น Welch’s Doctrine แต่ในอนาคตไม่แน่เพราะปัจจุบันเวลซ์ไม่ได้เป็น CEO แล้ว
ดังนั้นสำหรับท่านผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจติดตามข่าว-ความรู้จากหน้าหนังสือพิมพ์หรือเวทีสัมมนาที่ใดจะได้รู้หรือเข้าใจได้ว่าที่เรียกว่า “กูรู” นั้นจริงๆ เขาเรียกกันอย่างไรและใช่ “กูรู” จริงๆ หรือไม่


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: