April 8, 2009

ทำไมหลักการของ Jack Welch ไม่เวิร์ค โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

เมื่อ 4-5 ปีก่อนในต่างประเทศเราจะพบว่าแนวคิดหรือหลักการของ Jack Welch เป็นสิ่งที่ชื่นชอบและได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในหนังสือเล่มล่าสุด Winning


ในเมืองไทยแนวคิดของเวลซ์ได้รับการยอมรับที่สูงมากๆ เพราะดูได้จากบรรดา CEO ของบริษัทใหญ่หลายๆ บริษัทต่างพูดถึง หรือหลักการของเวลซ์ที่ชอบอ้างกัน เช่น
- จงควบคุมโชคชะตาหรือปล่อยให้คนอื่นฉวยไป
- เผชิญหน้ากับความเป็นจริงในขณะนี้ ไม่ใช่ความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาหรือตามที่ใจท่านปรารถนา
- จงจริงใจกับทุกๆ คน
- จงนำ อย่าจัดการ
- จงเปลี่ยนแปลงก่อนที่ท่านจะถูกเปลี่ยน
- ถ้าท่านไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันก็อย่าไปแข่งขัน!


นับถึงเวลานี้ธุรกิจอเมริกาต้องการหนังสือการแข่งขันเล่มใหม่ๆ
สิ่งที่เป็นความท้าทายที่เผชิญหน้ากับผู้นำธุรกิจของอเมริกาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้อย่างที่เคยทำมา สุดท้ายความมั่นคงในงานมีน้อยมาก ขณะที่ความรุนแรงของตลาดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายได้ แรงกดดันจากเฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนจากกองทุนส่วนบุคคลมีอย่างรุนแรงมาก รวมถึงการแข่งขันจากจีนและอินเดียที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกวินาที
การคิดใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นสิ่งที่ทำให้กฏเกณฑ์หรือสิ่งที่เวลซ์ได้นิยามไว้ออกไปนอกเส้นทางดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพราะว่ามีโมเดลอื่นอีกที่นอกเหนือจากเวลซ์ได้พูดไว้
Steve Jobs บริษัทแอปเปิ้ลไม่ได้ทำให้ช้างเต้นระบำแบบที่ Lou Gerstner ได้ทำที่ IBM แต่เสนอสิ่งที่คิดค้นใหม่คือ iPod และการปรับโฉมอุตสาหกรรมใหม่


ดังนั้น ศูนย์กลางอำนาจขององค์กรที่เป็นไปตามกฏเกณฑ์เดิมจึงไม่สามารถวิ่งหนีเงาตัวเองได้ โดยเฉพาะบรรดา CEO ที่ว่าตามตำรา จึงถูกเวลาฆ่าความสำเร็จให้หนีห่างออกไป

กฏเกณฑ์เดิม : สุนัขใหญ่เป็นเจ้าของถนน
กฏเกณฑ์ใหม่ : ว่องไวคือสุดยอด ความใหญ่ย้อนทำลายตัวเอง


ในทศวรรษสุดท้ายก่อนศตวรรษที่ 21 เราเชื่อกันว่าความใหญ่ของธุรกิจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกธุรกิจ สำนัก MBA ทั้งหลายต่างสอนกันว่าธุรกิจที่ใหญ่จะได้ประโยชน์จากการประหยัดด้วยขนาดพร้อมทั้งรายได้ที่มากมาย
ครั้นแล้วสิ่งที่น่าประหลาดใจก็เกิดขึ้น เมื่อยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เช่น GE Citigroup Microsoft ฯลฯ พบว่าเทคโนโลยีขั้นสูงและการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจเป็นสิ่งมีผลสำคัญต่อการกำหนดขนาดธุรกิจ ดังเช่น การใช้บริการจากภายนอก (Outsourcing) พันธมิตรและการร่วมลงทุนกับธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะ (กับการประหยัดด้วยขนาดของธุรกิจเหล่านั้น) ทำให้สามารถแปลต้นทุนคงที่กลายเป็นต้นทุนผันแปรได้

กฏเกณฑ์เดิม : จงเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ในตลาดของท่าน
กฏเกณฑ์ใหม่ : ค้นหาที่ว่างเฉพาะแล้วสร้างบางสิ่งที่ใหม่


ผู้นำตลาดไม่ว่าจะเป็น Nike, Wal-Mart, Shell “ไม่มีใครอยากเป็นผู้ล้าหลัง” แต่ไม่มีใครที่จะปลอดภัยได้ตลอดเวลา
ดังตัวอย่างกรณีของโค้ก ผู้ที่เป็นเบอร์ 1 ในตลาดโคลาได้นิยามตนเองว่า “ส่วนร่วมในกระเพาะอาหาร”แต่เมื่อน้ำดื่มชนิดขวด เช่น Evian และ Poland Spring เริ่มต้นเติบโตโดยที่ค่ายโค้กเองไม่ได้ให้ความสนใจ คู่แข่งอย่าง Pepsi รุกเข้าซื้อน้ำดื่มประเภทกีฬาจาก Gaterade ในปี 2000 ปรากฏว่าธุรกิจน้ำดื่ม ทั้งน้ำดื่ม น้ำดื่มประเภทกีฬาและน้ำดื่มที่ให้พลังมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 85%
Starbucks ผู้ขายน้ำดื่มอีกรายแต่เป็นตรงกันข้าม CEO ของ Starbucks Jim Donald ไม่เคยพูดว่า เราต้องการเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 Starbucks ไม่ใช่แบรนด์เราเป็นมากกว่านั้น เราเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ที่มีผลิตภัณฑ์ (Latte) สามารถเข้าถึงไวร์เลส เป็นสถานที่พร้อมด้วยดนตรีและนัดพบเพื่อน และถ้าเราพูดว่าเราต้องการเป็นเบอร์ 1 ในบริษัทกาแฟ สิ่งนี้จะอยู่ในใจเรา แต่สิ่งที่เราพูดคือ บริษัทต้องเติบโต พัฒนา พยายามหาสิ่งใหม่และสิ่งสำคัญที่สุด “เราเป็นบริษัทที่ถูกเลือก”


กฏเกณฑ์เดิม : จัดอันดับพนักงาน
กฏเกณฑ์ใหม่ : จ้างคนที่เคยมีความสำเร็จ


เวลซ์บอกกับทุกคนว่าเขาเป็น บริษัท A+ โดยเฉพาะในหนังสือ Jack Welch and the GE Way” เขากล่าวว่าเราต้องการเฉพาะผู้เล่นระดับ A เท่านั้น (We want only a player) และอย่าไปเสียเวลา ทำให้ C กลายเป็น B แต่จงหาทางให้ออกไปโดยเร็ว ดังนั้นพนักงานจึงถูกจัดอันดับเป็นพวก A, B หรือ C และกลุ่มต่ำสุด
จากการศึกษาของ Harvard โดย Bartlett พบว่า
คนไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อต้องการเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 หรือเพื่อให้ได้รับ อัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สินสุทธิเป็นจำนวน 20% แต่เขาต้องการรู้ถึงจุดประสงค์ เขามาทำงานเพราะต้องการความหมายของการมีชีวิต
Steve Jobs เน้นว่าที่ Apple เราจ้างคนที่มีความสำเร็จเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำ
CEO Genentech (Art Levinson) พูดว่า เราคัดผู้สมัครที่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับตำแหน่งและหุ้นปันผลทิ้งเพราะว่าเราต้องการคนที่ผลักดันให้มียาที่สามารถช่วยผู้ป่วยให้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง
ปัจจุบัน GE ยังคงจัดอันดับพนักงาน แต่ Immelt ได้ปรับระบบการประเมินใหม่ โดยมีคุณลักษณะของภาวะผู้นำเพิ่มเข้ามาเป็น 5 ระดับ แล้วจัดเป็นแดง เหลือและเขียว

น่าสนใจทีเดียวครับเกี่ยวกับหลักการของเวลซ์ ที่ธุรกิจในปัจจุบันเห็นว่าเป็นกฏเกณฑ์เดิม หรือต้องการกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับธุรกิจในศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ตาม ยังมีกฏเกณฑ์ใหม่ เช่น ลูกค้าคือพระราชา (กฎเกณฑ์เดิม เป็นกฏของผู้ถือหุ้น) มองภายนอกไม่ใช่ภายใน (กฎเกณฑ์เดิมจงผอมบางและเน้นวิธีการ) ว่าจ้าง CEO ที่มีความกระหายอยาก (กฎเกณฑ์เดิมว่าจ้าง CEO ที่มีบารมี) ผู้บริหารธุรกิจหรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Fortune ฉบับต้นเดือนสิงหาคม 2549


ทัศนะของผู้เขียนเกี่ยวกับหลักการของแจ็ค เวลซ์ ตามที่ได้ศึกษาและทดลองประยุกต์กับธุรกิจพบว่า แนวคิดในเรื่องผู้นำแบบ 4E’s (Energy, Energizer, Edge และ Execution) ยังเป็นหลักการที่น่าสนใจและประยุกต์ใช้ในเรื่องการสร้างภาวะผู้นำหรือผู้นำได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งธุรกิจในบ้านเราคงต้องพิจารณาและหารูปแบบในการนำไปใช้ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
อะไรๆ ในโลกนี้ก็ล้วนแต่อนิจจัง ผู้นำที่หลงกับอำนาจวาสนา ขาดจริยธรรม สุดท้ายไม่มีอะไรหนีพ้นสิ่งที่ฟ้าลิขิตได้!!


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: