April 8, 2009

ก้าวเหนือชั้นสู่การเป็น Fast Company โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

สิ่งที่ธุรกิจแสวงหาเพื่อความสำเร็จในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน คงไม่สามารถมองได้ทั้งโลกและหลายมุมมองโดยเฉพาะในมิติเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจ ทั้งนี้ก็เพราะว่าธุรกิจต้องมีทิศทางที่ชัดเจนหรือช่องทางที่นำไปสู่อนาคตที่สั้นและตรงที่สุด
แต่ในขณะที่คนในองค์กร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มักจะหยิบมุมมองในขอบเขตที่ตนเองถนัดหรือเชี่ยวชาญมาพูดหรือพิจารณา สิ่งนี้ถือเป็นความอันตรายหากไม่สามารถบูรณาการได้อย่างลงตัวที่จะนำไปสู่ทิศทางของธุรกิจ ซึ่งมักจะพบเห็นอยู่เสมอๆ ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน และดูประหนึ่งว่าภาครัฐในองค์กรที่เป็นราชการ องค์กรรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนจะมีความโดดเด่นในเรื่องนี้สูงมาก
และที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่งจากมมุมมองของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือตามประสบการณ์เดิมของธุรกิจที่เคยทำมา ซึ่งอาจไม่มีอะไรบอกความสำเร็จได้เลย แต่มาเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะในสิ่งที่ขาดหลักการอันเป็นพื้นฐานของแนวคิดหรือ “ทฤษฎีด้านการจัดการธุรกิจ-ความรู้”รองรับอย่างมีน้ำหนัก ซึ่งจะพบมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจราย-สัปดาห์และก็จะปรากฏข้อผิดพลาดอยู่เนื่องๆ


ประการแรก Fast Company เป็นอย่างไร
ธุรกิจที่จะเป็น “Fast Company” คงไม่ใช่ธุรกิจที่สนใจในเรื่องต่อไปนี้
# เป็นธุรกิจที่แอบอิงการเมือง แล้วฉวยโอกาสใช้กฎระเบียบของรัฐเพื่อให้ตนเอง
ได้สัมปทานสิทธิต่างๆ และก็กันคนให้อยู่นอกเส้นทาง หรือไม่มีโอกาสในการที่จะแข่งขัน แต่น่าจะขาดทุนและก็จะถูกครอบงำกิจการจากธุรกิจที่แอบอิงการเมืองดังกล่าว
# การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แล้วให้ “ประชาชนทั่วไป” (คงไปหานิยามได้จากตลาด
หลักทรัพย์) ได้มีสิทธิครอบครองหุ้นและตักตวงผลประโยชน์ในบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว แต่ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าที่ราคาแพงโดยไม่มีทางเลือก เพื่อให้บริษัทนั้นๆ มีกำไรและคืนผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นที่เป็น “ประชาชนทั่วไป”
# ธุรกิจที่จัดทำเรื่อง “คน” ได้บอกให้ทำในสิ่งที่แปลกมากๆ โดยเฉพาะ “การวางแผนอาชีพ” (Career Planning) เพื่อบอกว่า สิ่งนี้แหละจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร
# ธุรกิจที่สร้างให้คนสนใจเรื่อง “ตามหาฝัน” ทำให้เห็นว่า ชีวิตนี้จะต้องมุ่งสู่โลก
มายาบนแผ่นเซลลูลอยด์หรือเวทีประกวด ใช้ชีวิตที่อยู่กับอุปกรณ์การสื่อสารตลอดเวลาชนิดแทบจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายตนเอง

แต่ Fast Company จะรู้ในสิ่งต่อไปนี้ (จากการสำรวจของ The Economist
Intelligence Unit, 2005)

# การพัฒนาที่สูงในเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลง
# อุตสาหกรรมที่โดดเด่นที่สุดที่ธุรกิจ Fast Company สนใจในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นธุรกิจด้าน การดูแลสุขภาพ (Healthcare) ไบโอเทคโนโลยี เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ รวมทั้งการสื่อสารโทรคมนาคม ซอฟท์แวร์และคอมพิวเตอร์
# กลยุทธสำคัญที่ธุรกิจเลือกหยิบนำมาใช้คือ จัดการประสิทธิภาพด้านต้นทุน การสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า กระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สุดและนวัตกรรม


ดังนั้นธุรกิจ Fast Company จึงเป็นธุรกิจที่ต้องมีสิ่งต่อไปนี้เป็น “ดี เอ็น เอ (DNA)”สำคัญ
# ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองและโดดเด่นอย่างชัดเจนที่จะก้าวเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ธุรกิจนั้นจะกลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานโลก
# ธุรกิจที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็นลักษณะของ “Purple Cow” หรือคนไทยที่เป็นนักการตลาดจะรู้จักกันในภาษาไทยว่า “วัวสีม่วง” หรือ P ตัวใหม่ทางการตลาดที่มากกว่า 4’Ps เดิม
# ธุรกิจนั้นๆ จะมีสิ่งที่คู่แข่งไม่อาจลอกเลียนแบบหรือตามทันได้ โดยสิ่งที่ว่านั้นเป็นการบูรณาการทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการในฐานะของ “Fast Company”


ประการต่อมา การหา Talent People
ในการเป็น Fast Company ไม่ได้มีเพียงการหาหรือแสวงหากลยุทธใหม่ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงต้องการ “คน” หรือ “คนทำงานที่มีภูมิรู้” (Knowledge Worker) ที่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป
ดังนั้น ใน Fast Company จึงต้องการ “คนทำงานที่มีภูมิรู้” ที่มากกว่าสิ่งที่ธุรกิจเข้าใจกันอยู่โดยเป็นคนในรูปแบบที่เรียกว่า “Talent People” หรือ “คนที่มีความพิเศษ” ซึ่งเปรียบเทียบได้กับ
# คนทีมีไอเดียเจ๋งๆ ในธุรกิจจะถือว่าเป็น Talent People ใช่หรือไม่ คำตอบอาจจะ
เป็นได้และไม่ได้เพราะถ้ามีไอเดียเจ๋งๆ แต่ทำให้เป็น “นวัตกรรม” ไม่ได้ก็มีค่าเพียง “ฝัน” เท่านั้น
# คนที่มีความสามารถ (Competency) ตามที่ชอบๆ พูดกันเป็นคนที่จะเรียกว่า
Talent People ใช่หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่ายังห่างไกลแต่ความสามารถเป็นพื้นฐานของ Talent People
# เรื่องราวของ Talent People จึงไม่ใช่การที่ธุรกิจไปค้นหา “ความสามารถ” แต่
ต้องทำมากกว่านั้นเพราะ ความสามารถไม่ได้บอกความเก่งที่พิเศษ (Talent) และ ความเก่งที่พิเศษนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาจึงไม่ใช้วิธีการฝึกอบรมและพัฒนาจึงจะเกิดขึ้น


ประการสุดท้าย Fast Company คือรูปแบบขององค์กรแห่งศตวรรษที่ 21
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ธุรกิจหรือองค์กรแห่งศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องปรับสู่รูปแบบของ Fast Company หรือหากจะใช้รูปแบบหนึ่งที่ปัจจุบันพูดถึงกันมากคือ โมเดลฮออลลีวู๊ด (Hollywood Model) ก็ได้เพราะ การบริหารองค์กรรูปแบบโมเดลฮอลลีวู๊ดนี้จะใช้เฉพาะสุดยอดคนที่เป็น Talent People เท่านั้น
ฉะนั้นถ้าธุรกิจที่จะเป็น Fast Company จึงควรใช้รูปแบบจัดการคนเก่งที่พิเศษ (อ่านได้จาก Talent People)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: