April 8, 2009

The New Management Paradigms By Dr.Danai Thieanphut

ความสำเร็จของชาติยิ่งใหญ่ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ต่างก็ผ่านการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความคิดใหม่ๆ หรือพาราไดม์ใหม่ ซึ่งผลผลิตที่เป็นดอกผลทางปัญญาดังกล่าวมีคุณค่าใหญ่หลวงต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมและประเทศชาติทั้งหลายในโลกกลมๆ ใบนี้
ผู้เขียนมีช่วงเวลาที่จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวขององค์ความรู้ทางการจัดการธุรกิจว่า
# ตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี’1990 จนถึงปัจจุบัน (ปี’2005) มีแนวคิดอะไรหรือ
พาราไดม์ใหม่ทางการจัดการธุรกิจอะไรเกิดขึ้นบ้าง
# พาราไดม์ใหม่ทางการจัดการธุรกิจดังกล่าวที่ยังคงอยู่หรือจะฮิตติดตลาดต่อไป
ในอนาคตน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง
# ความคิดใหม่ๆ ทางการจัดการอะไรที่เป็นองค์ประกอบหลักภายใต้พาราไดม์
ทางการจัดการธุรกิจที่ธุรกิจสามารถหยิบไปใช้ได้จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการบริหารในองค์การธุรกิจ
# และที่ได้ศึกษาเป็นพิเศษซึ่งเป็นสุดยอดปรมาจารย์ของกูรูทางการจัดการคือ
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ โดยหยิบมาเพียงแนวคิดและได้แยกออกไว้เป็นอีกส่วนโดยเฉพาะ (ซึ่งไม่ได้นำเสนอในที่นี้เพราะความจำกัดด้านพื้นที่)
พาราไดม์ใหม่ทางการจัดการ
“พาราไดม์ใหม่ทางการจัดการ” หรือ “The New Management Paradigms” ในความเป็นจริงแล้วเป็นทั้งการจัดการ (Management) และการจัดการธุรกิจ (Business Management) แต่ต้องการให้ชื่อกระชับจึงใช้เพียงหัวข้อที่จั่วหัวเรื่องไว้
ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้สังเคราะห์ในช่วงเวลาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของโลกธุรกิจและองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจพบว่า จะมี “พาราไดม์ใหม่ทางการจัดการ” อยู่ 6 พาราไดม์ด้วยกันคือ พาราไดม์ด้านกลยุทธ ด้านภาวะผู้นำ ด้านการควบคุมกระบวนการ ด้านคนทำงานที่มีภูมิรู้ ด้านกลไกวัฒนธรรมและด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจดังนี้


พาราไดม์ที่ 1Strategic Winnowing

ในพาราไดม์แรกนี้หากจะย้อนหลังไปนานมากๆ ถึงศตวรรษที่ 19 ก็คงบอกได้ว่าเป็นเรื่องราวของ กลยุทธองค์กร การจัดการกลยุทธ หากจะสรุปให้สั้นๆ ซึ่งเหล่านักกลยุทธต่างทราบกันดีว่ามีอยู่ประมาณ 10 สำนักที่คิดด้านกลยุทธขึ้นมาโดยที่ Mintzberg (1990) ได้สรุปไว้ เช่น สำนักกลยุทธด้านสิ่งแวดล้อม กลยุทธด้านวัฒนธรรม กลยุทธด้านตำแหน่งทางการตลาด กลยุทธด้านผู้ประกอบการ กลยุทธด้านการวางแผน กลยุทธด้านการเรียนรู้ เป็นต้น
โดยสรุปแล้วในเมืองไทย เราเรียนรู้พาราไดม์แรกนี้ในด้านการจัดการกลยุทธที่ประกอบด้วย การวางแผนกลยุทธ (Strategic Planning) การนำกลยุทธไปปฏิบัติ (Strategic Implementation) และการควบคุมกลยุทธ (Strategic Control) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิดใหม่ทางกลยุทธ เช่น เรื่องของวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ (Strategic Vision) หรือ BSC (Balanced Scorecard) กลุ่มนักคิดจากสำนัก MBA ทั้งหลายจะมองว่าเป็นเรื่องดังกล่าว
ผู้เขียนเองกลับเห็นว่า ในการจัดการกลยุทธแล้วจะประกอบด้วยการคิดเชิงกลยุทธ การวางแผนกลยุทธ การนำกลยุทธไปปฏิบัติและการวัดผลกลยุทธ
ปัจจุบันกำลังพิจารณาในพาราไดม์ใหม่ที่เรียกว่า กลยุทธที่ชนะเดี๋ยวนี้ (Strategic Winnowing) ซึ่งต้องใช้ ทัศนภาพ (Scenario) แบบใหม่ เช่น “Deep Sea” และ “Coral Reef” ในกระบวนการคิดเชิงกลยุทธและโมเดลกลยุทธแบบใหม่ โดยที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการได้มาซึ่งกลยุทธที่ดีกว่า “Blue Ocean Strategy” ที่มองช่องว่างทางการตลาดโดยไม่มีใครต่อสู้ได้ แต่สิ่งนี้เหนือชั้นกว่า ซึ่งเรียกว่า “กลยุทธชนะเดี๋ยวนี้” หรือ “Strategic Winnowing”


พาราไดม์ที่ 2Process Control
อธิบายได้ง่ายๆ ว่าเป็น “การควบคุมกระบวนการ” หรือ Process Control พาราไดม์ในด้านนี้ ถ้าจะรู้จักกันดีในสมัยก่อนจะเรียกว่า การควบคุมเชิงสถิติ (Statistical Process Control) ที่อยู่ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพ ที่เรียกว่า กลุ่มควบคุมคุณภาพ หรือ QCC (Quality Control Circle) ภายใต้แนวคิดของ ดร.เดมิ่ง และทำให้แนวคิดดังกล่าวแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีเครื่องมือหรือแนวคิดการจัดการใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ธุรกิจในยุคนั้น เช่น การควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ระบบการผลิตแบบทันเวลา (JIT) หรือระบบการปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้ง (Kaizen)
ในเมืองไทยถ้าจะรู้จักดีๆ ก็เห็นมีแต่การเข้าประกวดชิงรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นการก้าวที่ดีและน่าสนใจ
ปัจจุบันในพาราไดม์ดังกล่าว กำลังก้าวไปสู่การปรับระบบควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์การไปสู่แบบ ธีมระบบคุณภาพ (Theme TQM) กับระบบ ISO ที่สอดคล้องกับโมเดลทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Model) ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยธุรกิจได้เดินมาจนถึงจุดนี้หรือไม่ เพราะพาราไดม์ดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจสามารถเกิดการสร้างมูลค่าได้ (Value Creation)


พาราไดม์ที่ 3 Level 5 & 4’Es of Leadership
เรื่องราวของภาวะผู้นำมีการศึกษากันอย่างมากมาย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าธุรกิจต่างๆ ได้เรียนรู้และปรับใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ถ้าเป็นกระแสที่พอทันกับการเปลี่ยนแปลง น่าจะมีเรื่องภาวะผู้นำของปีเตอร์ เซ็นเก้ ในเรื่องที่เรียกว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ ส่วนอุปนิสัยที่ดี 7 ประการกับประการที่ 8 ในเรื่องการสื่อสาร ผู้เขียนเห็นว่า ทศพิธราชธรรมและหลักทางพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นพรหมวิหาร 4 โลกธรรม 8 อิทธิบาท 4 ถ้าบูรณาการรวมกันจะเป็นสุดยอดการสร้างผู้นำได้ดีกว่า แนวคิดทั้งของเซ็นเก้ (Senge) และโควี่ (Covey)
ส่วนที่โด่งดังล่าสุดและน่าสนใจมากๆ คือ ผู้นำระดับ 5 (Level 5: Executive) ของจิม คอริลล์ จากการศึกษาบริษัทที่ดีสู่บริษัทที่ดีที่สุดคือ “สร้างความเป็นสุดยอดที่ยั่งยืน ภายใต้ส่วนผสมที่ตรงข้ามกันระหว่างบุคลิกส่วนตัวที่อ่อนน้อมถ่อมตน กับเจตน์จำนงของมืออาชีพและผู้นำแบบ 4”Es ของแจ็ค เวลส์ (มีพลัง, ผู้เติมพลังให้ผู้อื่น ทำแบบสุดขอบและปฏิบัติการ)


พาราไดม์ที่ 4 และ 5 คือ คนทำงานที่มีภูมิรู้ (Knowledge Worker) กับความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (CRS: Corporate Social Responsibility)
ในพาราไดม์ที่ 4 Knowledge Worker ซึ่งปีเตอร์ ดรักเกอร์ ได้พูดไว้คนแรกนั้น ปัจจุบันกลายเป็นกลไกสำคัญต่อความเป็นธุรกิจแชมเปี้ยนและผลักดันให้เศรษฐกิจเป็นแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจใหม่แบบสร้างมูลค่า (A New Value Creation Economy)


ส่วนพาราไดม์สุดท้าย CSR ในต่างประเทศกำลังสนใจต่อการวัดผลตอบแทนในการลงทุนทางสังคม (SRI: Social Return on Investment) มากกว่าที่ธุรกิจในไทยกำลังทำอยู่คือ คืนประโยชน์ให้สังคม แต่ขึ้นราคาสินค้าสร้างกำไรเป็น 4-50,000 ล้านบาทเพื่อผู้ถือหุ้นกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่มที่คุมเศรษฐกิจทั้งประเทศ
ทั้งหมดนี้ล่ะครับ! “The New Management Paradigms” ใน 15 ปีที่ผ่านมาและจะยังฮิตต่อไป


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

***New Business Knowlegde Network By Dr.Danai Thieanphut
1. Business Management : http://biz2all.blogspot.com/
2. Family Business : http://drdanai.blogspot.com/
3. สถาบันการจัดการความรู้แห่งประเทศไทย : http://thekmthailand.blogspot.com/
4. DNTConsultants Training Program : http://dnttraining.blogspot.com/

No comments: