ต้องขออนุญาตให้ชื่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษเต็มๆ หน่อยนะครับ เพราะในเรื่องของผู้นำผมเห็นว่า เรามักศึกษาตำราของตะวันตกกันค่อนข้างมาก พอจะหาแก่นความรู้ที่เป็นไทยๆ ดูออกจะหายากเสียจริง
ถ้าพูดกันถึง ทฤษฎีตะวันตกในเรื่องภาวะผู้นำหรือ Leadership ผู้เขียนให้ความสำคัญหรือความสนใจไม่กี่แนวคิดหรอกครับ ทั้งนี้เพราะว่าสามารถนำไปปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ได้ แต่ก็ยังขาดบริบทในวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง
ซึ่งที่ผู้เขียนชอบมากๆ และก็สอนในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาในเรื่องของภาวะผู้นำคือ
@ แนวคิดแรกเป็นของดรักเกอร์ สุดยอดปรมาจารย์ของกูรูที่อธิบายเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้ในหนังสือ The Effective Executive ซึ่งจะมีเสาหลักอยู่ 5 ประการคือ
1) การจัดการเวลา
2) รวมความพยายามทั้งหมดสร้างสรรค์ผลงาน
3) ทำในสิ่งที่เป็นจุดแข็งให้มีผลิตภาพ
4) มุ่งในภารกิจที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อสร้างสรรค์ออกมา
และ 5) ทำการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
@ แนวคิดที่ 2 คือ ผู้นำระดับ 5 (Level 5: Leadership) ของคอลลินส์กับการสร้างผู้นำแบบเวสท์ปอยต์ (ให้ท่านผู้บริหารอยากรู้ลองศึกษาดูครับ) รวมถึง The 4’Es of Lesdership ที่กลั่นมาจากประสบการณ์ของแจ็ค เวลซ์ (แม้ว่าในหลายๆ หลักการของเวลซ์กำลังถูกตรวจสอบว่าใช้ไม่ได้กับโลกธุรกิจยุคใหม่)
หลักการของภาวะผู้นำแบบไทย
ผู้เขียนอยากจะขอนำสิ่งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษกล่าว
เรื่องผู้นำหรือนักปกครองในการสัมมนาวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ 58 ปี จุฬาฯ (นสพ.คมชัดลึก วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2549 หน้า 15)ซึ่ง ถือได้ว่า มีความชัดเจนที่สุดใน “หลักการของภาวะผู้นำแบบไทย” หรือ “Thai Leadership Doctrine” มาเพื่อการศึกษาและหวังว่าเราจะสามารถมีแนวทางสร้างหลักการเรื่องภาวะผู้นำแบบไทยได้เองโดยสรุปความได้ดังนี้
1. มีมาตรฐานเดียวคือ การทำงาน การบริหารบุคคลและการบริหารองค์การ ต้องมีมาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรมเพียงมาตรฐานเดียว
2. มีคุณงามความดี นักรัฐศาสตร์ต้องถือศีล 5 โดยเคร่งครัด ใช้พรหมวิหาร 4 อย่างมั่นคงและยึดอิทธิบาท 4 อย่างยั่งยืน
3. มีความเป็นไทยคือ จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราเป็นคนไทย มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดและอื่นๆ ด้วยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด
4. มีความเป็นธรรม หมายถึง มีธรรมะอยู่ในใจ มีความยุติธรรม มีคุณธรรมและ มีจริยธรรม ส่วนตัวมั่นใจว่าทุกคนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความสำคัญของทั้ง 2 คำ ตราบใดที่ผู้บริหารและองค์กรต่างๆ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ตราบนั้นผู้นั้น องค์กรนั้นจะประสบความสำเร็จจะได้รับความเคารพนับถือ ศรัทธา ได้รับการยอมรับ ความร่วมมือ ความเชื่อมั่นและการยกย่องสรรเสริญ ผู้ปฏิบัติก็จะอิ่มเอิบใจและมีความสุข
5. มีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและมีความจงรักภักดี สิ่งเหล่านี้มีการความหมายอยู่ในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องขยายความ
6. มีการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี การที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอจะเป็นสื่อการสอนที่ดีและเร็วกว่าใช้สื่ออย่างอื่น
7. มีความรัก คือ ความห่วงอาทร ตราบใดที่เราจะมีความรักต่องาน ตราบนั้นเราก็จะทุ่งเทเพื่องาน จะสนุกสนาน ภูมิใจและปรารถนาดีต่องาน
“การทำสิ่งใดโดยปราศจากความรัก ความปรารถนาดี จะทำเพราะต้องทำตามหน้าที่ ความสำเร็จจะอยู่ห่างไกลมาก ฉะนั้นผมคิดว่าความรักคือ คำตอบของความสำเร็จ การจะแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะปัญหาที่ยาก เช่น ปัญหาความยากขน ไม่รักและไม่ปรารถนาดีต่อพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้แต่เงิน ใช้แต่ที่เรียกกันโก้ๆ ว่ายุทธศาสตร์คงจะสำเร็จได้ยาก
8. มีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ความหมายโดยรวมกว้างขวางมาก จึงขอเรียนสั้นๆ ว่า โปรดถามตัวเองว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นคนไทย เราได้ทำอะไรที่เป็นคุณและโทษต่อแผ่นดินของเราบ้าง สัญญากับตัวเองว่าเราจะรักษาแผ่นดินของเราตามหน้าที่และบทบาทของเรา เราจะไม่ทำอะไรที่เป็นผลเสียหายต่อแผ่นดินไทย ปฏิญาณตนต่อพระสยามเทวาธิราช เราจะซื่อสัตย์สุจริตต่อแผ่นดิน
9. มีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ยึดถือในการดำรงชีวิต ซึ่งพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เราในช่วง 60 ปีมีเป็นร้อย ขอให้ไปอ่านดูแล้วจะพบว่า หากเรายึดมั่นตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ เราจะมีแต่ความสุข ความสงบ บ้านเมืองจะเรียบร้อย จะพัฒนา มีความรักสามัคคี คนดีจะได้รับหน้าที่สำคัญในชาติบ้านเมือง คนไม่ดีก็ยากที่จะก่อความวุ่นวายได้
ผู้เขียนเห็นว่าเราสามารถจะสรุปเป็น โมเดล “หลักการของภาวะผู้นำแบบไทย”จากข้างต้น ใน 9 ลักษณะซึ่งน่าจะทำให้การศึกษาหรือวิจัยต่อจนสามารถนำไปสู่การใช้ได้อย่างทั่วไปเพราะสิ่งนี้เป็น“นวัตกรรมทางการจัดการ” (Management Innovation) ใครสนใจอยากทำในเชิงของวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ผู้เขียนยินดีให้การสนับสนุนทางวิชาการ
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
กรรมการผู้จัดการ
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment