ชีวิตองค์กรกับชีวิตคนในองค์กรถ้าจะพิจารณาให้ชัดเจนแล้วแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน
เราพบสัจจธรรมของธรรมชาติที่มีมนุษย์เป็นที่ตั้งนั้นจะเป็นลักษณะของการเวียนว่ายตายเกิด
ขณะเดียวกันองค์กรทุกองค์กรสุดท้ายแล้วจะมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน
ผู้เขียนจำได้ว่าเริ่มแรกของชีวิตการทำงานจวบจนปัจจุบันได้คลุกคลีอยู่ในเรื่องของการศึกษาทำความเข้าใจในวงจรของการพัฒนาคนและองค์กรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ช่วงแรกๆ เป็นการนำรูปแบบของกลุ่มควบคุมคุณภาพ (Quality Control Circle) มาใช้ในการพัฒนาคน
ถอยหลังไปประมาณ 20 ปีผู้เขียนยังจำได้ในยุคนั้นตื่นเต้นมากกับแนวคิดของกลุ่มควบคุมคุณภาพ (QC Circle) ที่ได้แพร่ระบาดอย่างมากมายในองค์กรธุรกิจเพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร อาทิ
- ทำให้คนในระดับล่างๆ หรือพนักงานมีความสำคัญมากขึ้น
- การใช้ความคิดดีๆ ของพนักงานเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการปฏิบัติงาน
- เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจากบนสู่ล่างมาเป็นจากล่างขึ้นสู่บน
- มีผู้นำกลุ่มที่ไม่เป็นทางการและไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน
รูปแบบดังกล่าวยังคงมีการนิยมใช้และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงต่อมา เป็นรูปแบบการแสวงหาความรู้ใหม่จากโปรแกรมสัมมนาภายนอกองค์กร
ถ้าจะนับเวลารูปแบบนี้จะเป็นประมาณช่วงปี’2530 จะเป็นยุคที่การฝึกอบรมแบบโปรแกรมสัมมนาภายนอกองค์กรหรือที่เรียกว่า “Public Program” มีการเติบโตและบูมสุดสุดจนกระทั่งเกิดภาวะวิกฤตทางการเงินของประเทศ ซึ่งกลายเป็นยุคตกต่ำที่สุดของโปรแกรมสัมมนาภายนอกองค์กร
สิ่งที่เป็นการพัฒนาในช่วงนี้จะพบว่า
- ทุก ๆองค์กรตื่นตัวที่จะให้บุคลากรทุกระดับโดยเฉพาะผู้บริหารได้ออกไปแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจ
- ผู้ที่เข้าอบรมจะได้กลับมาเป็นผู้เผยแพร่หรือจุดประกายความคิดในองค์กร
- ธุรกิจยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจึงเป็นกระแสแฟชั่นที่ใครไม่ออกไปอบรมสัมมนาภายนอกองค์กรจะดูเชยไปเสียเลยก็ว่าได้
ช่วงที่สาม ยุคการพัฒนาคนในช่วงภาวะวิกฤตและหลังวิกฤต
ในช่วงนี้เรียกได้ว่า งานฝึกอบรมและพัฒนาคนของแต่ละองค์กรปิดประตูตายเลย แต่มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือ
- การประหยัดงบประมาณในการพัฒนาคนด้วยการจัดอบรมภายในองค์กร
ด้วยเทคนิคใหม่ๆ ทางการบริหารจัดการ และกลยุทธใหม่ๆ
- ธุรกิจที่ปรึกษาและพัฒนาองค์กรที่เป็นมืออาชีพและมีโนว์-ฮาว์ที่ประสบ
ความสำเร็จจะได้รับการยอมรับให้เข้าไปพัฒนาบุคลากรและองค์กรช่วยให้ธุรกิจบางกลุ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด
ช่วงที่สี่ ยุคการพัฒนาคนในปัจจุบัน
ยุคปัจจุบันนี้อาจมองได้ 2 ลักษณะที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการพัฒนาบุคลากรและองค์กรดังนี้
(1) การพัฒนาเทคนิคและกลยุทธใหม่ๆ ที่ต่อเนื่องมาจากภายหลังภาวะวิกฤต
เช่น การพัฒนาในเทคนิคการประเมินองค์กรแบบสมดุล (Balanced Scorecard) ดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจ (KPIs) การปรับเปลี่ยนองค์กร (Corporate Scorecard) การพัฒนาในเรื่องความสามารถหลักของธุรกิจ (Core Competencies) หรือการพัฒนาด้านจัดการซัพพลายเชน (SCM: Supply Chain Management) การจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) การสร้างแบรนด์ ( Brand Building) หรือแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ เป็นต้น
(2) ความต้องการรูปแบบการพัฒนาบุคลากรและองค์กรที่ประสบคสวามสำเร็จอย่างแท้จริง เนื่องจาก
- องค์กรธุรกิจค้นพบว่า รูปแบบการส่งพนักงานเข้าไปอบรมตามโปรแกรมสัมมนาภายนอกไม่ประสบความสำเร็จที่จะให้ผู้เข้าอบรมกลับมาถ่ายทอดความรู้หรือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้เกิดขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
- การที่ผู้เข้าอบรมได้ไปฟังตัวอย่างหรือบทเรียนทางธุรกิจจากองค์กรที่เป็นลักษณะผูกขาดหรือได้สิทธิจากสัมปทานภาครัฐหรือความสำเร็จของธุรกิจเกิดใหม่ จะได้เพียงเกร็ดหรือรู้เพียงภาพคร่าวๆ ของสิ่งที่องค์กรเหล่านั้นทำและยากที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของผู้ที่เข้าอบรมได้
- การจัดอบรมหรือสัมมนาภายในองค์กรธุรกิจที่เป็นทั้งรูปแบบบรรยายหรือ การฝึกปฏิบัติ (Workshop) หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมหรือสัมมนาแล้ว องค์กรธุรกิจแทบจะมีน้อยมากที่จะสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองอย่างตลอดรอดฝั่ง หรืออาจจะกระตือรือร้นในช่วงแรกๆ หลังจากจบการอบรมหรือสัมมนาหลังจากนั้นก็หายไป
Work Rally รูปแบบใหม่ที่สร้างความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
ผู้เขียนพบว่าในช่วง 2-3 ปีของการให้คำปรึกษาธุรกิจหรือการเข้าไปเป็นวิทยากรนำสัมมนาภายในองค์กรธุรกิจพบว่า
(1) องค์กรธุรกิจต้องการผลที่เสร็จสิ้นภายหลังจากการฝึกอบรมหรือสัมมนา นำไปสู่การการันตีว่าทำสำเร็จจริงๆ โดยตลอดทั้งองค์กร หรือ
(2) อธิบายได้ง่ายๆว่า วิทยากรหรือที่ปรึกษาธุรกิจต้องสามารถนำสิ่งที่สอนไปสู่การปฏิบัติได้จริงๆ ในลักษณะ “บริการความรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูงมากกว่าการฝึกอบรมหรือสัมมนาเฉยๆ
สิ่งใหม่ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในโปรแกรม Work Rally (เขียนถูกแล้วนะครับ Work ไม่ใช่ Walk ) เมื่อตอนที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งมีโปรแกรมสำหรับการปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกของบัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตร การจัดการธุรกิจ ที่น่าสนใจโดย
- เป็นรูปแบบการพัฒนาความรู้ที่สามารถนำไปวิเคราะห์สร้าง “สโลแกน” ขององค์กรธุรกิจให้เกิดขึ้นมาได้
- สามารถพัฒนาความสามารถหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตที่จะทำให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศในทุกๆ ด้าน
- เป็นรูปแบบปฐมนิเทศที่น่าสนใจมากคือ แทนที่จะเป็นรูปแบบสนุกในลักษณะ Walk Rally ที่นิยมกันกลับเป็น รูปแบบ Work Rally ที่มีความสนุกผสมองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนของรูปแบบปฐมนิเทศบุคลากรในองค์กร
- วิทยากรผู้นำสัมมนาคือ รศ.ดร.เสรี วงศ์มณฑา สามารถปรับให้เป็นลักษณะ Mass Customization ได้อย่างสวยงามและทันกับเทคนิคทางธุรกิจที่ไม่แพ้การสัมมนาดังๆ ของโลกที่เราชอบเชิญกันมาในเมืองไทย
นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาบุคลากรและองค์กรที่จัดทำโดยสุดยอด
กูรูของเมืองไทยและน่าจะเป็นพัฒนาการด้านการพัฒนาคนที่ควรสานต่อและขยายต่อยอดในภาคปฏิบัติขององค์กรให้เป็นที่เผยแพร่มากยิ่งขึ้น
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment