April 8, 2009

เพลย์เมคเกอร์ในองค์กร โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

สิ่งที่น่าศึกษาและเรียนรู้อย่างยิ่งคือ ทำไมองค์กรจึงมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเกิดการพัฒนา แม้กระทั่งปิดหรือเลิกกิจการ.
ประเด็นเหล่านี้ในต่างประเทศมีการศึกษากันอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงขนาดจัดตั้งเป็นสาขาวิชาในระดับปริญญาโทกันก็มีให้เห็นอยู่หลายๆ มหา’ลัยชั้นนำของต่างประเทศ


# อิจฉามาร์เก็ตติ้งในวงวิชาการเมืองไทย
ผู้เขียนเคยได้รับเชิญให้ไปร่วมวิพากษ์หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบัน
อุดมศึกษาแห่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาโครงร่างหลักสูตรทั้งหมดได้พบว่า
• หลักสูตรที่จัดทำขึ้นมานั้นไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วเลย
• ที่มาและเหตุผลของการร่างหลักสูตรดังกล่าว อยู่ที่ว่าถ้าทำอะไรที่แหวกแนว
แตกต่างออกไปก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ เพราะกรอบความคิดของผู้อนุมัติหลักสูตรของประเด็นของ “คุณภาพการศึกษา” (สภามหาวิทยาลัย)
• ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นได้หรือไม่ว่า หากให้มีหลักสูตรอะไรที่แตกต่างไปจาก
อดีตและปัจจุบันจะทำให้เกิดปัญหาทันทีคือ
(1) ชนชั้นที่ควบคุมดูแลระบบการศึกษาจะกลายเป็นคนตกรุ่นไปเพราะ
ไม่สามารถเข้ามาสอนหรือขาดรายได้เชิงเศรษฐกิจจากหลักสูตรใหม่ๆ เนื่องจากความรู้ที่มีอยู่เดิมนั้นล้าสมัย
(2) เป็นการชักบันไดหนีหรืออิจฉามาร์เก็ตติ้ง คือกั้นไม่ให้มีจำนวนคนที่
จะมีวุฒิเท่ากับตัวเองและพยายามบอกว่าที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนมานั้นมักยาก และจะมาทำกันง่ายๆ ได้ยังไง ฉันเองก็เลือดตาแทบกระเด็นมาแล้ว
ปัจจุบันนี้ในระดับบัณฑิตศึกษาจึงเห็นถึงทิศทางใหม่ที่มีหลักสูตรเชิงลึกมากขึ้น
(ป.โทและ ป.เอก) และหลากหลายมากขึ้น (มากสาขาวิชา)
แต่ก็ต้องตกตะลึงครับ เพราะในปีที่ผ่านมามีข่าวปรากฏว่า จำนวนผู้จดสิทธิบัตรทั้งโลกมีประมาณ 2 แสนราย เป็นสิทธิบัตรจากประเทศไทย 60 รายเท่านั้นเอง และใน 60 รายการนี้เป็นของบริษัทต่างชาติในไทย 50 รายการ
หมายความว่า การศึกษาที่จำกัดเฉพาะวงวิชาการแบบอิจฉามาร์เก็ตติ้ง และบอกกันว่าห่วงคุณภาพการศึกษา สุดท้ายเรามีการวิจัยและพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้เพียง 15 รายการที่เป็นของคนไทยจริงๆ ที่จดสิทธิบัตรระดับโลก

# เพลย์เมคเกอร์ในองค์กร
ผู้บริหารธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ผู้เขียนคิดว่าเราคงต้องมาทบทวนกันใหม่แล้ว
“ใครคือ เพล์เมคเกอร์ในองค์กร?”
จากผลการวิจัยของผู้เขียนในเรื่องตัวแบบเชิงยุทธศาสตร์ของทุนทางปัญญาสำหรับธุรกิจไทย (A Strategic Intellectual Capital Model for Thai Enterprises) พบว่า ทุนภาวะผู้นำ (Leadership Capital) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของการสร้างทุนทางปัญญาในองค์กร
ดังนั้นเราควรวิจัยหรือใช้เครื่องมือในด้านวิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodo-logy) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาองค์การให้แข่งขันได้
# การวิจัยแรกที่ต้องเร่งศึกษาว่า ผู้นำองค์กรในบริบทของวัฒนธรรมการบริหารแบบไทย คุณลักษณะ (Traits) อะไร จึงจะนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ ตามการศึกษาของผู้เขียนและการให้คำปรึกษากับธุรกิจในเรื่อง ภาวะผู้นำขององค์กร ผู้เขียนมีสมมติฐานสูความสำเร็จในด้านนี้อยู่ 2-3 แนวคิดด้วยกัน
# แนวคิดหรือหลักการของผู้นำในพาราไดม์ของดรักเกอร์ ที่อธิบายเรื่อง
ภาวะผู้นำภายใต้แนวคิดของ “ 5 เสาหลักของภาวะผู้นำ” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1985 ในหนังสือ The Effective Executive และเล่มสุดท้ายก่อนเสียชีวิต The Effective Executive in Action (2006) โดยอธิบายถึง 1) วิธีการทำอย่างมีระบบและการบริหารเวลา 2) การมองที่ผลลัพธ์ (ใช้ความพยายามในการทำให้เกิดผลลัพธ์แทนที่จะลงมือทำเอง) 3) ต้องยืนอยู่ภายใต้จุดแกร่งของตนเอง 4) สนใจในสาขาที่ชำนาญและสามารถเสนอผลงานได้ดีกว่าผู้อื่น และ 5) กล้าตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด
# แนวคิดผู้นำระดับ 5 ของคอลลินส์ (2001) เป็นงานวิจัยที่ศึกษาจาก
บริษัทที่ดีสู่บริษัทที่ดีที่สุดคือ ความเป็นสุดยอดที่ยั่งยืนภายใต้ส่วนผสมที่ตรงข้ามกันระหว่างบุคลิกส่วนตัวที่อ่อนน้อมถ่อมตนและความมุ่งมั่นอย่างมืออาชีพ
# รูปแบบผู้นำของแจ็ค เวลซ์ (The 4E’s of Leadership) ที่ทำให้บริษัทมี
วิญญาณด้วยพลังของผู้นำ (Energy) จุดหรือกระตุ้นพลังให้ผู้อื่น (Energizer) ทำให้สุดขอบหรือตัดสินใจในสิ่งที่ยาก (Edge) และปฏิบัติการ (Execution)
# สุดท้ายการสร้างผู้นำแบบเวสท์ ปอยท์ อันนี้ชัดเจนที่สุดในเรื่องของวินัย
การเป็นผู้ตาม ศีลธรรมจรรยาและผู้นำที่แข็งแกร่งแบบทหาร
ผู้เขียนเห็นว่า ลองใช้กรอบแนวคิดของทั้ง 4 แนวคิดมาจำลองสร้าง โมเดลของ
ผู้นำในธุรกิจที่บริหารภายใต้บริบทของวัฒนธรรมไทย ซึ่งลักษณะนี้จะเรียกได้ว่า ต้นแบบของผู้นำ (A Leader Prototype) หลังจากนั้นจึงนำไปสู่การพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า “A Leader Model” หรือโมเดลของผู้นำ สำหรับธุรกิจไทยควรจะมีโมเดลแบบใดจึงจะเป็นเพลย์เมคเกอร์ในองค์การ


# การวิจัยในองค์กรผู้เขียนอยากเสนอให้เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ที่เป็นเพียงการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ น่าจะก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว
และแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งของผู้รู้ซีกตะวันตกที่นำมาใช้เลยโดยไม่มีการศึกษา
และปรับใช้อย่างถูกวิธี ยิ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งเงิน ทอง เวลาและโดยเฉพาะโอกาสทางธุรกิจที่จะเลื่อนลอยหลุดไป
แต่สิ่งที่ควรทำมากกว่านั้นคือ ผู้นำธุรกิจหรือองค์กรควรนำการวิจัยมาใช้อธิบายบรรยายในสภาพจริงของบริบทแบบวัฒนธรรมไทย ด้วยการวิจัยที่เป็นแบบผสม (Mixed Research) มากกว่าการทำวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงสำรวจที่นิยมกันมานานนับปีทีเดียว
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ขององค์กรธุรกิจไทย

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: