หลายๆ ครั้งที่ผู้เขียนมักจะถูก CEO หรือ MD ของธุรกิจในบ้านเราที่ผู้เขียนได้สนทนาทั้งในช่วงของการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ หรือระหว่างที่เป็นวิทยากรนำสัมมนาด้านการจัดทำแผนกลยุทธ การสร้างและสื่อสารคุณค่าขององค์กร รวมถึงมิติใหม่ด้านการบริหาร HR ที่เรียกว่า ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital)
คำถามหลักเลยที่มักจะถูกถามเสมอๆ คือ
“แนวคิดสมัยใหม่หรือเครื่องมือทางธุรกิจใหม่ๆ มีบริษัทคนไทยหรือในประเทศไทยที่ไหนทำสำเร็จแล้วบ้าง?”
“องค์กรที่บริหาร HR ได้ดีที่สุดในบ้านเรา อาจารย์คิดว่าเป็นบริษัทใดหรือบริษัทไหนที่น่าจะไปศึกษา”
ความจริงคำถามดังกล่าวตอบได้ไม่ยากนัก แต่อยากให้คิดถึงบทเรียนของบริษัทชั้นนำที่จะก้าวสู่ผู้นำระดับโลก ให้ผู้บริหารธุรกิจได้ศึกษาและเรียนรู้
เรียนรู้จากบริษัทชั้นนำระดับโลก
ผู้เขียนมักชอบที่จะบอกให้ CEO หรือ MD หลายๆ ธุรกิจให้มองข้ามบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในประเทศได้แล้ว แต่ให้มีสายตาแหลมคมมองหาบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ของโลกในแต่ละด้านเพื่อทำการศึกษาความสำเร็จดังกล่าว
ผู้เขียนยินดีที่เห็นมีธุรกิจในเมืองไทยมีอายุได้เป็น 100 ปี และจะยินดีมากขึ้นอีกครับถ้าบริษัทเหล่านั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เพื่อเป็นแบรนด์ที่คนทั่วโลกจะได้กล่าวถึง
Samsung : ตัวอย่างที่น่าศึกษาอย่างยิ่งของบริษัทชั้นนำระดับโลก
บริษัทซัมซุง (Samsung) หรือซัมซุงอิเลคทรอนิกส์ที่ก่อตั้งโดยโฮอัม หรือ ลีเบียงชอล มีอายุเพียง 2 ชั่วอายุคนเท่านั้นเองคือ ประธานลีคนแรก และประธานคนปัจจุบัน ลี คอม ฮี รับตำแหน่งในปี 2003 ซึ่งเป็นปีที่ 16 หลังจากนั้นไม่นานเราได้รู้จักตำนานความสำเร็จของธุรกิจแดนโสมแห่งนี้
Samsung เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1938 นับถึงปัจจุบันมีอายุเพียง 69 ปี
แต่ขึ้นผงาดเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก มีพนักงานวุฒิปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 8,000 คน
ที่ทำงานด้าน R&D อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลกในการลงทุนด้านนวัตกรรม (5,428 $M)
หรือประมาณ 7% ของยอดขาย
(1) มีรายงานล่าสุดจากบริษัทดิสเพลย์เสิร์ซ์ (บริษัทวิจัยระดับโลก) เมื่อวันที่ 30 พ.ย.49 ในไตรมาส 3 ซัมซุงอิเลคทริกส์ มียอดจำหน่ายและรายได้มากที่สุดในตลาดโทรทัศน์ทั่วโลก
“ซัมซุงสามารถกวาดส่วนแบ่งทางด้านรายได้ในตลาดโทรทัศน์ทั่วโลกติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยทำยอดขายได้ในยุโรปมากเป็นอันดับ 1 และในอเมริกาเหนือ”
ขณะที่ด้านรายได้ซัมซุงสามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ทั้งในตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ (นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ธ.ค.49 หน้า A16)
สิ่งที่ผู้เขียนอยากบอกผู้บริหารธุรกิจ หรือผู้ที่สนใจพัฒนาองค์กรเพราะ ซัมซุงมีความโดดเด่น เช่น
@ ซัมซุงมีนโยบายเรียนรู้จากบริษัทอันดับหนึ่ง เพราะหัวใจของการบริหารคือ
ต้องพยายามหาคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษเฉพาะเหล่านี้ พร้อมทั้งรวมพลังไปพัฒนาจุดพิเศษเหล่านี้ขึ้นมา
@ ซัมซุงได้ศึกษาความสำเร็จด้านผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าของ SONY และ
Panasonic และยังได้ศึกษา
ศึกษาอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์จากบริษัท Toray เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์โพลิเอสเตอร์ ยางไม้สังเคราะห์ ฟิล์มและเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น
ศึกษาระบบคลังสินค้าจาก Westing House เนื่องจากมีความสำเร็จด้าน ERP (Enterprise Resource Planning) และ FedEx (มีระบบรหัสบาร์โค้ด)
ศึกษาห้าง Nosdstorm ที่มีชื่อเสียงในด้านการบริการลูกค้า
ศึกษา HP เรื่องการบริหารการผลิตและระบบการจัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์
ศึกษา การสถาปนานวัตกรรมใหม่ๆ จากโมโตโรร่าและ 3M
(2) ศาสตร์แห่ง CEO ที่ซัมซุง
ณ ที่บริษัทซัมซุงเดิมที่มีปรัชญาการบริหารงานว่า “Man First” ปัจจุบันได้ปรับมาเป็น “Man and Technology”
ดรักเกอร์ได้ให้แนวคิดไว้ว่า “สำหรับประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่มีประวัติ-ศาสตร์ธุรกิจที่ไม่ยาวนานมากนัก การมีทักษะการบริหาร (The Practice of Management) เป็นตัวกำหนดความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของบริษัท แต่พอดำเนินธุรกิจไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้คงความได้เปรียบในการแข่งขัน ธุรกิจจำเป็นต้องสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เฉพาะของธุรกิจขึ้นมา จึงจะสามารถนำพาธุรกิจให้มีการเติบโตและพัฒนาการอย่างรวดเร็วได้”
ศาสตร์แห่ง CEO ที่ผู้บริหารระดับ CEO และผู้อำนวยการทุกคนในเครือซัมซุงต้องร่ำเรียนนั้นมีหัวใจของที่มาหลักอยู่ว่า
“อะไรคือ สิ่งที่ CEOต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ควรระวังสำหรับ CEO”
ประการแรกสุด ต้องรู้ตั้งแต่พื้นฐานหรือวัตถุประสงค์ของการอยู่รอดของธุรกิจ
ประการต่อมา ในการที่จะให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ลักษณะของคนในองค์กรจะส่งผลในลักษณะใดได้บ้าง จึงเป็นการศึกษาการบริหารคนอย่างลึกซึ้ง
ประการที่สาม ในเมื่อต้องการให้ธุรกิจอยู่รอด พื้นฐานที่สำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัทคือ “ตลาด” หรือ “คนที่เป็นลูกค้า” ที่เป็นผู้ซื้อสินค้าและบริการที่บริษัทได้นำเสนอ
ประการสุดท้าย ทำอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมโยงคนที่เป็นลูกค้าในตลาดให้เข้ากับคนในองค์กร โดยผ่านธุรกรรมขององค์กร
สรุปแล้ว ศาสตร์แห่ง CEO ที่คนของซัมซุงต้องเรียนจะแบ่งได้ 3 ส่วนคือ ตลาด คน และการบริหารจัดการ
(3) สร้างอัจฉริยะบุคคลให้เกิดขึ้นในธุรกิจ
ด้วยปรัชญาการบริหารเพื่อกระตุ้นจิตวิญญาณของคนซัมซุง อดีตประธานลีเบียงชอล ได้เสนอทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับนักบริหารได้ 3 ประการด้วยกันคือ
ประการแรก ความสามารถในการประเมินการเปลี่ยนแปลงและสภาพแวดล้อมของธุรกิจเพื่อวางแผนธุรกิจและตอบสนองอย่างฉับพลัน
ประการที่สอง ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่ยึดติดกับประโยขน์และผลลัพธ์เฉพาะหน้า มีสายตาที่จะสร้างสรรค์งานและพัฒนาอนาคตได้
ประการที่สาม ภาวะผู้นำที่มีไอเดียเลิศ มีจิตสำนึกแห่งการพึ่งตนเองเพื่อความอยู่รอด มีพลังแห่งความเป็นนักต่อสู้และมีความภูมิใจในศักดิ์ศรี
จาก 3 ประการข้างต้น ซัมซุงต้องการบุคคลเช่นไรจึงจะมาบริหารงานและธุรกิจ ในอนาคตระยะ 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า
ในเดือน พ.ย.2002 ประธานลีกอนฮี ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์อัจฉริยะบุคคล” ที่จะมาเป็นผู้นำองค์กรสู่ยุคแห่งนวัตกรรมใหม่ๆ โดยจะต้อง
- เป็นคนที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับโลกอนาคต ต้องเป็นผู้ที่สามารถ
สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เปิดตลาดใหม่ๆ และนำพาองค์กรให้พัฒนาไปข้างหน้าได้
- เป็นนักพัฒนาและนักปฏิบัติที่สามารถฉีกแนวความคิดในปัจจุบัน สามารถทำ
สิ่งที่เป็นเพียงแผนการในกระดาษให้สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้
- คนที่สามารถวิเคราะห์อะไรได้อย่างทะลุปรุโปร่งและมีความสามารถในการ
สร้างงาน
- และเป็นคนที่มีความเป็นคนสูง
บริษัทธุรกิจของคนไทยน่าจะได้ศึกษาบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับโลก เช่น ซัมซุง ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่ถึง 70 ปีที่สามารถผงาดในระดับโลกได้ (ข้อมูลที่สามารถศึกษาเพิ่มเติม อาทิ เวบไซท์ของซัมซุง หนังสือบทเรียนความสำเร็จ ลี เบียง ชอล หนังสือซังซุงมหาอำนาจอิเลคทรอนิกส์และการสัมภาษณ์ของบริษัทซัมซุงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา)
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment