คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ในปัจจุบันการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจเป็นสิ่งที่มีความยากมากกว่าแต่ก่อนในมิติของความซับซ้อนและความกำกวม
ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นในปัจจุบันนี้ อย่างในกรณีของธุรกิจบางประเภท
- กลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมในประเทศ เราบอกไม่ได้ว่ามีความเป็นไทย
หรือไม่เพราะกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านทางกลุ่มทุนข้ามชาติ
- หรือแม้กระทั่งสายการบินโลว์คอสแอร์ไลน์สายหนึ่งก็ยังเป็นที่กังขาว่า ใช่หรือ
ไม่ใช่ แต่ที่แน่ๆ การบินไทยของเราจะต้องบินในเส้นทางที่ขาดทุนในประเทศ เส้นทางทำกำไรให้โลว์คอสแอร์ไลน์บิน และเวลาที่เป็นช่วงดีที่สุดด้วย ซึ่งทำให้ผู้โดยสารคนไทยต้องเดินทางในเวลาที่ไม่ปกติคือ เช้ามากและกลับดึก
ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบยังมีความเป็นไทยหรือรับใช้ระดับนานาชาติไปแล้ว
ดังนั้น การที่จะบอกว่า “องค์กรที่ฟิตสุดๆ” (The Organizational Fitness) จะมีเครื่องมือวัดใดที่จะบอกได้หรือลักษณะอย่างไรจึงเรียกว่า องค์กรที่ฟิตสุดๆ
# ข้อจำกัดในวิธีดั้งเดิมสำหรับวัดสมรรถภาพองค์กร
คำว่า องค์กรที่ฟิตสุดๆ หรือ The Organizational Fitness เกิดมาได้ 4-5 ปีแล้ว ซึ่งแต่เดิมอาจจะพูดกันในมิติของ “สมรรถภาพองค์กร” (Organizational Capabilities)
วิธีการดั้งเดิมที่รู้จักกันในการพิจารณาสมรรถภาพองค์กร อาทิ การเทียบวัด (Benchmarking) การรื้อปรับกระบวนการธุรกิจ (BPR) และการจัดวางตำแหน่งของโซ่คุณค่า (Value Chain Positioning) กลายเป็นวิธีการที่ดูเหมือนว่าให้นัยสำคัญที่น้อยลงเพราะผลจาก สภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่เพิ่มความรุนแรงอย่างสูงในเศรษฐกิจเครือข่ายของความรู้
เราจะพบว่า การเทียบวัด (Benchmarking) เป็นสิ่งที่ใช้วัดและนำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับมาตรฐานการดำเนินงานในอุตสาหกรรม ที่ทำให้องค์กรมีการปรับปรุงผลิตภาพและเพิ่มขึ้นของรายได้ ทำให้เครื่องมือนี้ถูกยอมรับมากในด้านการดำเนินงาน แต่ถ้าพิจารณาในด้านการกำหนดทิศทางกลยุทธองค์กร ยังไม่อาจชัดเจนหรือเสนอให้เห็นถึง โอกาสทางกลยุทธใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งมีอยู่เหนือโครงสร้างของอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม กลยุทธที่อาศัย BPR มักจะส่งให้องค์กรบรรลุถึงการริเริ่มผลงานในการออกแบบใหม่และปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในกรอบของเวลา แต่ไม่อาจดำเนินการข้ามกระบวนการระหว่างหน้าที่หรือองค์กรที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในระบบสังคม-วัฒนธรรม และความเป็นระบบที่มีอิทธิพลเหนือการจัดระบบในอุตสาหกรรม
ขณะที่บ้านเรานิยมศึกษาและพูดถึงกันมากในเรื่องโซ่คุณค่า แต่ความสับสนวุ่นวายในสภาพแวดล้อมของธุรกิจวันนี้ องค์กรที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ไม่สามารถสำเร็จผลโดยการกำหนดตำแหน่งในโซ่คุณค่า แต่ต้องการกลยุทธที่มีปฏิสัมพันธ์ในการเปลี่ยน-แปลงหรือปรับพื้นฐานในวิถีแห่งคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นภายในระบบธุรกิจ
# องค์กรแบบฟิตสุดๆ
องค์กรที่ดำเนินการในเรื่อง TQM หรือการปรับระบบคุณภาพโดยรวมแม้ว่าจะมีการเพิ่มผลิตภาพได้ดี แต่ในสังคมเครือข่ายซึ่งมีความวุ่นวายที่กลายเป็น กฎของเกมการแข่งขันใหม่โดยมีความไม่แน่นอนเป็นสัจธรรม พลวัตในภูมิทัศน์ของการแข่งขันได้กลายเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติองค์กร TQM จึงเหมาะสมเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
BSC (Balanced Scorecard) ได้พยายามสร้างสมดุลในความแตกต่างของแรงขับในการปรับเปลี่ยนองค์กร แต่ก็มีข้อจำกัดในการมุ่งภายในองค์กรมากกว่าที่จะมองความเป็นระบบ ทั้งระบบนิเวศน์ธุรกิจ อาทิ มุมมองด้านการทำกำไร เป็นจุดมุ่งของธุรกิจเดียวๆ มากกว่าที่จะเป็นการร่วมมือภายในโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม และมุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโต ควรที่จะขยายไปสู่ความสำเร็จในการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อให้เป็นองค์กรเชิงรุกภายในกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทเป็นสมาชิกอยู่
องค์กรที่ฟิตสุดๆ จึงใช้เครื่องมือที่ต่อยอด BSC ซึ่งเป็นทั้ง การจัดการกลยุทธและระบบวัดผลกลยุทธที่เหมาะกับองค์กรลักษณะนี้ โดยระบบนี้คือ การจัดการกลยุทธอย่างเป็นระบบที่เหนือชั้นกว่า หรือ Systemic Scorecard
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะใช้ Systemic Scorecard คือ อะไรที่เรียกว่า องค์กรที่ฟิตสุดๆ
คำว่า องค์กรที่ฟิตสุดๆ นี้มีการศึกษาในช่วงปี 2000 ที่ผ่านมาโดยสามารถให้คำจำกัดความแบบใช้ได้ไม่ยากนักในธุรกิจ โดยเป็นสิ่งที่บอกถึง “ความสามารถขององค์กรในการปรับตัวและอยู่รอดในสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอด และยังสามารถประสบความสำเร็จโดยผ่านการวิวัฒน์ตามธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง”
หรือ “แม้กระทั่งองค์กรมีการขยายเครือข่ายกระบวนการธุรกิจและเข้าไปร่วมเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่หรือปรับปรุงคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
โดยสรุปแล้ว องค์กรที่ฟิตสุดๆ มีโมเดลตามที่เบียร์ได้เสนอไว้ ดังนี้
ในโมเดลขององค์กรที่ฟิตสุดๆ จะมีสมรรถภาพที่เรียกว่า 7’Cs คือ ความร่วมมือกัน (Coordination) ความสามารถ (Competence) ความมุ่งมั่นผูกพัน (Commitment) การสื่อสาร (Communication) การจัดการข้อขัดแย้ง (Conflict Management) คิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)
และการจัดการสมรรถนะ (Capacity Management) กระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่า ความสามารถขององค์กรที่เพิ่มการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนองค์กร
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment