August 17, 2008

ช่วยกันดีดเศรษฐกิจและธุรกิจให้รุ่ง

การพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมาถูกสร้างให้มีความเชื่อกันว่า ถ้าเศรษฐกิจของประเทศมีอัตราเติบโตกี่ % เป็นตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี หรือการเพิ่มขึ้นของตัวเลข GDP ยิ่งทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ดีเข้าไปใหญ่หรือเป็นฝีมือในการบริหารประเทศ สิ่งเหล่านี้ประชาชนคนเดินถนนหรือหาเช้ากินค่ำ เดี่ยวนี้อาจจะหามื้อกินมือก็ได้ ไม่มีความเข้าใจหรือไม่รู้หรอกว่าคืออะไรในความหมายที่แท้จริงของตัวเลขเศรษฐกิจ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราขาดนักวิชาการที่จะพูดให้เห็นถึงความจริงในเรื่องดังกล่าว และบรรยากาศที่ถกเถียงทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์การพัฒนาประเทศได้หายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานานทีเดียว (5-6 ปีแล้วเห็นจะได้) โชคดีที่ผ่านมาไม่นานนัก ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์และรายงานสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ (ก่อนที่จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ) ชี้ประเด็นของผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ว่า

....เศรษฐกิจสหรัฐดี แต่เศรษฐกิจของธุรกิจอุตสาหกรรมของมลรัฐไม่ดี เป็นผลจากธุรกิจเขาสู้ไม่ได้ เมื่อแข่งไม่ได้ก็ต้องปิดตัวลงไป ซึ่งวันนี้เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่เราควรพูดได้แล้ว อย่าพูดแต่ว่า เศรษฐกิจโต 4-5% แล้วล้มเหลวไม่มีไม่ใช่เลย หรือความล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ใช่ ความล้มเหลวที่นอร์ทแคโรไลนา โรงงานต้องปิดตัวลงเพราะเขาแข่งขันไม่ได้

......การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสหรัฐในช่วงปี 2521-2545 เพิ่มขึ้นเท่าตัว สิ่งนี้คือการต่อสู้อย่างเต็มที่แล้วแต่แข่งขันไม่ได้ไม่ใช่เกิดจากความชะล่าใจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ แต่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่สู้เต็มที่แล้ว โดยการทำให้มีประสิทธิภาพจาก 3 เรื่องคือ 1.เครื่องจักรที่ดี 2.ซอฟต์แวร์ และ 3. การจัดการด้านเทคนิค

.....บทเรียนจากสหรัฐคือ การปรับตัวซึ่งต้องอาศัยเครื่องจักร เพื่อ 1.สร้างมูลค่าเพื่อความแม่นยำ 2.ดีไซน์การออกแบบ รูปลักษณ์ต่างๆ และ 3. การพัฒนาบุคลากร

โดยทิ้งประเด็นว่า "แมชชีน ทูล์" เป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใครดีกว่าก็แข่งได้ดีกว่า (ของไทยเราตลอด 20 ปีมีประมาณ 87,000 เครื่องในจำนวนนี้ 50% ควรปรับปรุงประสิทธิภาพเพราะมันเก่า)

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่น่าชื่นชมเมื่อผู้บริหารธุรกิจหรือสถาบันชั้นนำของประเทศได้ออกมาบอกว่าอะไรที่ถูกที่ควร และธุรกิจควรปรับตัวกันอย่างไร

ประเด็นที่ธุรกิจจะปรับตัวเพื่ออยู่รอดและแข่งขันได้ดี


ผู้เขียนฟันธง! ไปว่าอย่ามัวรออะไรที่หวังกันอยู่เลย ธุรกิจและชาติต้องเดินหน้า หมดเวลารอแล้ว!!
สิ่งที่ธุรกิจทั้งหลายสนใจกันคือ ทำอย่างไรจึงจะปรับตัวหนีตายหรือแข่งขันได้ดี ถ้าพิจารณาจากข้อมูลการศึกษาที่เป็นบทเรียนจากสหรัฐซึ่งกล่าวไว้ข้างต้น คือ การต้องอาศัยเครื่องจักรใหม่ในการสร้างมูลค่า การดีไซน์และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร


การเริ่มต้นหรือดำเนินธุรกิจของไทยที่เราเรียกกันว่า ผู้ประกอบการ ผู้เขียนได้พบและพูดคุยกันในหลายธุรกิจ หลายสมาคมจะมีทำกันอยู่ 2-3 ช่วงอายุคน ในด้านโอกาสและความสำเร็จเป็นอย่างไรมีให้ศึกษาน้อยมาก เพราะไม่มีการศึกษากันอย่างจริงๆ จังๆ จะเห็นมีส่วนใหญ่จะเป็นด้านการฝึกอบรมและพัฒนาของสถาบันการศึกษาหรือสถาบันในสังกัดกระทรวงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม


ล่าสุดจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนสรุปว่า การที่ธุรกิจจะแข่งขันได้ดีหรือหากธุรกิจไทยสนใจที่จะนำไปใช้เพื่อการเติบโต ออกไปสู้ในเวทีโลกหรือตลาดต่างประเทศจำเป็นต้องปรับองค์กรใหม่ ปรับวิสัยทัศน์ใหม่และอาศัยกลยุทธ์การเติบโตใน 3 สิ่งใหม่คือ กลยุทธ์ใหม่ด้านลูกค้า กลยุทธ์ใหม่ด้านนวัตกรรมและกลยุทธ์ใหม่ด้านภูมิศาสตร์ประเทศ

ประเด็นสำคัญยิ่ง ก้าวที่ท้าทายสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ตามที่บอกไปข้างต้นธุรกิจไทยเราขาดพื้นฐาน (FOUNDATION) สำหรับการสร้างการเติบโต เพราะเราไม่มีสถาบันที่ศึกษาและเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในการสร้างธุรกิจให้แข่งขันได้ดี (มีแต่สถาบันฝึกอบรม กับสถาบันให้กู้เงิน ซึ่งจำเป็นเหมือนกัน)

วงจรของการเติบโตในธุรกิจครอบครัว หรือที่เรียกกันว่า "FAMILY BUSINESS" บ้านเราอาจจะเรียกธุรกิจ 2 คน พ่อ-แม่/สามี-ภรรยา ธุรกิจ SMES แล้วแต่ว่าจะชอบอย่างไร แต่แท้จริงคือ ธุรกิจครอบครัวนั่นเอง โดยหลักจากการศึกษาด้านความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวจะมีวงจรอยู่ 2 วงจรด้วยกัน

วงจรแรก เป็นวงจรความผูกพันของธุรกิจครอบครัว ซึ่งจะทำให้ก่อกำเนิดธุรกิจ ขึ้นมาโดยมี ความเชื่อหรือคติหลักที่ยึดอยู่ของครอบครัว ลู่ทางหรือความคิดด้านธุรกิจครอบครัว และฝันไกลๆ ของครอบครัวโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งอาจจะเป็นรุ่นพ่อแม่หรือก่อน-หลังรุ่นดังกล่าว

วงจรที่สอง เป็นการวางแผนดำเนินธุรกิจครอบครัวให้ต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งจะมีการวางแผนในส่วนของการพัฒนาความเป็นเจ้าของกิจการให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้บุคคลในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม การเตรียมผู้บริหารและผู้นำในธุรกิจครอบครัว
ทั้ง 2 วงจรดังกล่าวเป็นวงจรการวางแผนธุรกิจคือ การสร้างความผูกพันทางกลยุทธ์และการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ

สิ่งที่ผู้เขียนยกมาเล่าให้ฟังนี้ เป็นการศึกษาและพัฒนาของสถาบันพัฒนาธุรกิจครอบครัวในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจ SMES มีรากฐานในการวางธุรกิจ เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดและแข่งขันได้ดี

ดังนั้น การที่จะดีดธุรกิจให้รุ่งและพุ่งไปสู่ก้าวที่ท้าทายและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เราต้องทำ 2-3 อย่างคู่ขนานกัน ทั้งการศึกษาบทเรียนความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจในโลก ปรับใช้กลยุทธ์ใหม่ในการแข่งขันของธุรกิจ สร้างพื้นฐานใหม่ที่แข็งแกร่งให้ธุรกิจ (ครอบครัว) โดยอยู่บนการศึกษาวิจัยสร้างความรู้ที่มากกว่าให้การฝึกอบรม มิฉะนั้น ดีดยังไงก็ไม่ขึ้นตัวเลขเศรษฐกิจที่พูดๆ กัน

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: