เรื่องของแผนที่ยุทธศาสตร์หรือ Strategy Maps ผู้เขียนมักเรียกว่าแผนที่กลยุทธ ดูจะเข้าใจได้ง่ายกว่าในเชิงองค์กรธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามมีความจริงอย่างหนึ่งของประเทศหรือ องค์กรธุรกิจที่เหมือนๆ กันและน่าจะเป็นเช่นนี้ทุกประเทศคือ การชอบใช้ “โนว์-ฮาว์” หรือ”เทคนิคใหม่ทางกลยุทธ”
แต่สิ่งที่ส่วนใหญ่ชอบพูดกันมักจะเป็นเฉพาะในแง่มุมของความสำเร็จของโนว์-ฮาว์ หรือ เทคนิคใหม่ ๆ เสียมากกว่าจะพูดถึงความล้มเหลว
อะไรคือสิ่งที่ประเทศและองค์กรธุรกิจสนใจ
ในทิศทางของการแข่งขันทางด้านความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งที่ต้องการเป็นอย่างมากคือ การมีกลยุทธใหม่ๆ เทคนิคการจัดการใหม่ๆ หรืออะไรที่จะทำให้เกิดความร่ำรวยจากทุนความรู้ หรือ ทุนปัญญา
เรื่องที่ 1 ได้แต่คิดเรื่องยุทธศาสตร์
เมื่อเดือนก่อนที่จะหมดปีงบประมาณ(ของทางราชการ)
ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดในภาคเหนือของประเทศเพื่อทำหน้าที่วิทยากรพิเศษบรรยายให้กับข้าราชการของจังหวัดแห่งหนึ่งที่ต้องการสร้างความเข้าใจในเรื่องกลยุทธหรือยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในประเด็น “การคิดเชิงกลยุทธ” และ “การวางแผนกลยุทธ”
สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือ ส่วนใหญ่ข้าราชการที่เข้าสัมมนามีการตื่นตัวสนใจและตั้งอกตั้งใจฟังเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่แปลกใจจากผู้เข้าสัมมนาท่านหนึ่งบอกว่า “ได้เรียนรู้เรื่องกล-ยุทธ แล้วทำให้คิดว่า สิ่งที่จังหวัดกำลังทำกลยุทธอยู่นั้นไม่เป็นไปตามที่ได้ยินได้ฟังมากและก็พูดกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ผู้ที่รับผิดชอบทางจังหวัดไม่เคยทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวเลย
เรื่องที่ 2 วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งและโมเดลเพชรพลวัต
หลักในการทำแผนกลยุทธที่มักคุ้นเคยกันในธุรกิจคือ การจัดทำเรื่อง SWOT Analysis หรือการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค แล้วหลังจากนั้นอาจใช้การจัดทำ กลยุทธพอร์ตโฟลิโอหรือการใช้โมเดล 7’s หรือปัจจุบันอาจจะนิยมใช้ Balanced Scorecard (การประเมินองค์กรแบบสมดุล)
หากเป็นกรณีของจังหวัดหรือประเทศในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ มักจะไม่ศึกษาว่าแนวคิดของโมเดลดังกล่าวมีข้อจำกัดหรือใช้ไม่ได้ผลในสภาพแวดล้อมแบบไหน ซึ่งเป็นการนิยมใช้ตามกระแสมากกว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง
ในระยะหลังๆ หรือปัจจุบันนี้แนวคิดที่กำลังจัดทำจะเป็นเรื่องของ “แผนที่ยุทธ-ศาสตร์” หรือ “แผนที่กลยุทธ” (Strategy Maps) ซึ่งเป็นปัญหาว่าจะทำให้กลยุทธหรือยุทธศาสตร์นั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกันแน่
สิ่งใหม่ในความสำเร็จของยุทธศาสตร์การแข่งขัน
จากการศึกษาของผู้เขียน พบว่ามีเทคนิคหนึ่งที่บริษัทชั้นนำหรือแม้แต่กองทัพสหรัฐก็ยังนำมาใช้ ซึ่งเทคนิคนี้น่าสนใจมากเรียกว่า การวิเคราะห์ทัศนภาพ (Scenario Analysis)
(1) การวางยุทธศาสตร์ของชาติหรือการจัดทำ “ทัศนภาพ” (Scenario) เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะว่าหากจัดวางผิดพลาดยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็จะไม่ถูกทาง
ในช่วงก่อนปี 2000 ประเทศอินเดียได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติใหม่ซึ่งใช้การวิเคราะห์ทัศนภาพและการวางแผนทัศนภาพโดยมีทั้งหมด 4 ทัศนภาพด้วยกัน เช่น ทัศนภาพที่ 1 เป็น “การดิ้นรนจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม” ทัศนภาพที่ 2 “การรุกเข้าไปครอบครองอุตสาหกรรมอื่น “ ทัศนภาพที่ 3 “ก้าวสู่ดวงดาว” และทัศนภาพสุดท้ายเป็นการวาดฝันใน “รุ่งอรุณใหม่ของประเทศ”ซึ่งการใช้เทคนิคดังกล่าวทำให้ประเทศอินเดียมียุทธศาสตร์ในการเติบโตที่รวดเร็วมาก
ฉะนั้นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โดยเน้นแต่การจัดทำเพียงการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค ในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการที่จะทำให้มีแผนยุทธศาสตร์ที่ดี
2) แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Maps) เป็นแนวคิดที่พยายามจัดวางกลยุทธในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ในด้านกลยุทธทางการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และ การเรียนรู้กับการเติบโต
* จุดอ่อนของแผนที่ยุทธศาสตร์ มีข้อจำกัดสำคัญสำหรับสิ่งนี้เกิดจากแผน
ที่ยุทธศาสตร์ที่จะนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมนั้น จะต้องเป็นองค์กรที่มีการจัดวางแผนกลยุทธอย่างเป็นระบบด้วย “BSC” และ “KPIs” แต่ในกรณีของยุทธศาสตร์ชาติหรือจังหวัด ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเห็นผลอย่างแท้จริง
* ไม่สามารถสร้าง “สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้” ให้เป็นแรงผลักทางกลยุทธได้ทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ “สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้” หรือ “ทุนปัญญา” ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างกลยุทธด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายในและการเรียนรู้กับการเติบโต
ดังนั้นการจะทำให้องค์กรหรือประเทศชาติมีทุนความรู้หรือทุนปัญญาเป็นแรงผลักทางกลยุทธให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก จำเป็นต้องคิดใหม่ ทำใหม่ในเรื่องของ “การสร้างคุณค่า” จากทุนความรู้หรือทุนปัญญา
โดยสรุปแล้วหากนักกลยุทธหรือนักยุทธศาสตร์ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจไทยเมื่อคิดจะใช้ “แผนที่ยุทธศาสตร์” (Strategy Maps) พึงระวังให้มากเพราะอาจพาท่านไปสู่ความล้มเหลวทางกลยุทธหรือแพ้ในสนามการแข่งขันได้ ขอให้ท่านคิดเสียว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวทางธุรกิจครับ”!!
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment