August 18, 2008

On Strategy- Free Encyclopedia : สารานุกรมเสรีว่าด้วยกลยุทธ

ข้อเขียนนี้ปรับปรุงใหม่จาก "วิสัยทัศน์เพื่อการเติบโต (1)

เกริ่นนำ:การจัดการเชิงกลยุทธ

การจัดการเชิงกลยุทธ (strategic management) เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการแข่งขันของธุรกิจที่จะให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ธุรกิจต้องการ

ในปัจจุบันธุรกิจเกิด คำถาม และ มีความสับสนกันพอสมควรในคำว่า “ยุทธศาสตร์” และ “กลยุทธ” ว่ามีความหมายที่เหมือนหรือ ต่างกันอย่างไร ซึ่งการอธิบายหรือทำความเข้าใจจะต้องย้อนไปศึกษา ประวัติด้าน กลยุทธโดยเฉพาะตั้งแต่ ยุคโบราณทั้งจีน ยุโรป อินเดีย และไทย จึงจะมีความเข้าใจที่มาของความหมายได้อย่างถูกต้อง

ถ้าพิจารณาอย่างคร่าวๆ จะพบคำภาษาอังกฤษที่ใช้คือ “Strategy” โดยในพจนานุกรมไทยหรือดิกชันนารีจะแปลไว้ทั้ง 2 คำคือ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ แต่ที่มาของคำถามและ ความสับสนกันมากๆ ในปัจจุบันนี้เพราะรัฐบาลในยุคของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นร่วมกับที่ปรึกษาและนักวิชาการภาครัฐบาลได้ประดิษฐ์คำ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ โมเดิร์นไนซ์ พันธกิจ ฯลฯ ออกมาจนเป็นคำ " ฮิต" หรือ ภาษาตลาดที่พูดกันเกร่อ ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครับ ผู้ที่ศึกษาในสถาบันการศึกษา และบางส่วนของภาคธุรกิจได้ยินศัพท์ในเรื่องเหล่านี้บ่อยมากขึ้น จนเกิดคำถามและความสับสน

ความจำเป็นและที่มาของการเขียนเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลยุทธที่ครอบคลุมในเรื่อง ที่มาของกลยุทธ ความหมายกลยุทธ วีธีการกำหนดกลยุทธ การวัดความสำเร็จของกลยุทธ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษา ผู้ที่จัดทำกลยุทธ หรือ นักวิชาการด้านนี้ สามารถนำไปใช้และปฏิบัติได้อย่างมีหลักการที่ถูกต้อง หรือปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและหน่วยงาน อีกทั้งยังจะมีแหล่งอ้างอิงได้พร้อมกับเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อยอดองค์ความรู้ในด้านกลยุทธ ที่เหมาะสมจนสามารถปรับเข้ากับธุรกิจและประเทศชาติได้ในระยะยาว

จุดถือกำเนิดของกลยุทธหรือ Strategy

จุดถือกำเนิดของกลยุทธหรือ Strategy สามารถลำดับได้ดังนี้

(1) รากศัพท์จริงๆ ของคำว่า Strategy นั้นมาจากภาษากรีก “Srategos” ในยุคของกรุงเอเธนส์ สมัยนั้นชาวกรีก ใช้คำว่า “Generalship” โดย
กลยุทธจะหมายถึง การทำสิ่งทั่วๆ ไปสำหรับการพัฒนาแผนกว้างๆ เพื่อชัยชนะในสงคราม (Strategy is what generals do in developing broad plans for winning a war, Finnee, W.C. 1994; Hands-on Strategy P.5)

(2) หนังสือที่มีอิทธิพลทางยุทธศาสตร์การทหารมากที่สุดคือ The Art of War เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 6 โดย Sun Tzu (คนไทยอาจรู้จักกันในชื่อว่า ซุนวู) หรืออีกเล่มหนึ่งที่มีการแปลออกมาในระหลังพร้อม ๆ กับ ตำราพิชัยสงครามของซุนวู คือ 36 กลยุทธแห่งชัยชนะ (ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง) แต่ถ้าจะศึกษาทำความเข้าใจด้านกลยุทธ มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ครบถ้วนโดยเฉพาะอีกเล่มหนึ่งของค่ายทางยุโรป หนังสือ The Prince ที่ Niccolo Machiavelli เขียนขึ้นในปี 1532 เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองกับ หนังสือ On War โดย Carl Von Clausewitz จะทำให้เข้าใจที่มาของกลยุทธได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

(3) ในเบื้องต้นจะสรุปได้ว่า คำภาษาอังกฤษคือ Strategy ที่ใช้กันเป็นทางทหารจะใช้คำว่า ยุทธศาสตร์ (Strategy) มากกว่ากลยุทธ และใช้คำว่า ยุทธวิธี (Tactic) ในการจัดขบวนรบหรือวิธีรบ แต่นโปเลียนใช้คำว่า ยุทธวิธีใหญ่ (Grande Tactique) แทนคำว่า “ยุทธศาสตร์” ในหลักการของเคลาซ์เซวิส ใช้คำว่า ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดังนี้ (อ้างจาก พอ.พจน์ พงศ์สุวรรณ (2526) หลักยุทธศาสตร์)

ยุทธศาสตร์ คือ การใช้การยุทธเพื่อการสงคราม (Utilization of battles for the purpose of war)
ยุทธวิธี คือ การใช้หน่วยทหารในการรบหรือเพื่อการยุทธ (The use of armed forces for the purpose of battles)


(4) คำว่า "กลยุทธ" ที่เกิดความสับสนในความหมายสำหรับการศึกษาและนำมาใช้ในประเทศไทย คงเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นได้
ใช้คำว่ายุทธศาสตร์ เมื่อมีการจัดทำ ยุทธศาสตร์การแข่งขันของประทศ จึงเกิดคำถามขึ้นมาระหว่าง คำ 2 คำว่า ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ เหมือนหรือต่างกัน

จากการศึกษาใน การบริหารแนวใหม่ที่สภาพัฒฯ เขียนไว้ใช้ในภาครัฐบาลพบว่า นักวิชาการภาครัฐบาลใช้คำว่า ยุทธศาสตร์ ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Grand Strategy” และ กลยุทธที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Strategy”

ดังนั้นทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่อง Strategy อย่างจริงจังตั้งแต่ในอดีตต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะสรุปว่า ยุทธศาสตร์ต่างกับกลยุทธ หรือ มีนัยเป็นอย่างอื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน
สำหรับ “หลักการในการทำการรบหรือทำสงคราม กับหลักการในการทำธุรกิจน่าจะเทียบเคียงกันได้เพราะในทางธุรกิจเราใช้คำว่า สงครามธุรกิจหรือ Business Warfare” แต่ต้องใช้อย่างคิดวิเคราะห์ให้รอบครอบเพราะ สงคราม กับธุรกิจไม่เหมือนกัน

บริบทถัดมาของ “กลยุทธ” (Strategy)

ถ้าจะอธิบายเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์โบราณนั้นสามรถอธิบายหรือตีความได้อย่างไม่รู้จบ (ซึ่งจะได้อธิบายต่อในลำดับต่อ ๆ ไป) แต่ถ้าถือตาม การแบ่งของพจนากรม หรือ บรรดาสารานุกรม (ที่เชิญชวนให้คนมารุมกันสร้าง) มักจะแบ่งกลยุทธออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลยุทธการทหาร (Military Strategy) กลยุทธเศรษฐกิจ (Economic Strategy) กลยุทธการเมือง (Political Strategy) และกลยุทธธุรกิจ (Business Strategy) (ซึ่งในทางปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ไม่แน่ใจ-ผู้เขียน)

ในที่นี้ผู้เขียนจะขอมุ่งเฉพาะกลยุทธธุรกิจ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในศตวรรษที่ 21 นักกลยุทธทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงโดดเด่นและมีอิทธิพล มากที่สุดในตลอด 5ทศวรรษที่เริ่มตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา

โดยจะนับเรียงกันมีอยู่หลักๆ ประมาณ 5 คนที่จะขอสรุปย่อให้เห็นภาพรวมก่อนที่จะไปอธิบายกันในรายละเอียดเพื่อเกิดความเข้าใจเมื่อถึงส่วนของการ กำหนดกลยุทธ นอกนั้นเป็นนักกลยุทธในยุคปลายศตวรรษที่ 20 หรือทศวรรษสุดท้ายก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เช่น CK.Phahalad, Gary Hamel, Kaplan and Norton หรืออย่าง Blue Ocean Strategy ของKim และ Mauborgneซึ่งทั้ง 5 ท่านนี้ถือว่าบุกเบิก ในเรื่องการจัดการกลยุทธ (Strategic Management)จนกลายเป็นเนื้อหาวิชาที่เรียนกันในสำนัก MBA ชั้นนำของโลกแล้วมีการพัฒนาต่อยอด องค์ความร้ขึ้นมาเป็นศาสตร์หรือทฤษฎีทางกลยุทธนักกลยุทธ

ท่านแรกคือ Alfred Chandler มีผลงานที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับมากที่สุดในหนังสือ Strategy and Structure (1962) เป็นผู้ที่มีคำพูดที่กล่าวถึงกันตลอดมา คือ “Structure Follows Strategy” ซึ่งถือได้ว่าเปลี่ยนแนวคิดจากการจัดวางองค์กรก่อนแล้ว มาวางกลยุทธภายหลัง ขระที่ในปัจจุบันนี้เริ่มอธิบายใหม่เข้ามาแทนว่า “กลยุทธตามหลังสมรรถภาพ (Strategy follows from Capabilities) ”

นักกลยุทธท่านที่สองคือ Philip Selznick เป็นผู้ที่พัฒนาเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งรู้จักและนิยมใช้กันในธุรกิจที่เรียกว่า การวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค (SWOT Analysis, (1957) ปัจจุบันองค์กรภาครัฐนิยมใช้กันมาก (แต่กลับแข่งขันไม่ได้!) หรือธุรกิจภาคเอกชนที่เรียนด้านการบริหารกลยุทธจะต้องทำ SWOT Analysis แต่เมื่อธุรกิจมีการพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือ เป็นธุรกิจที่ถือเป็นกุญแจสำหรับภูมิภาค การใช้ SWOT วิเคราะห์องค์กรกลับไม่รู้ตำแหน่งในการแข่งขันหรือกลับต่อสู้ธุรกิจยักษ์ข้ามชาติไม่ได้เพราะ
ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขัน (ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ดีกว่า SWOT Analysis ซึ่งในประเทศไทยเพิ่งรู้จักไม่นานนัก แต่ในต่างประเทศมีการทำมานานโดยเฉพาะบริษัทน้ำมันรอยัลดัชท์เชลล์เป็นผู้คิดค้น เรียกว่า การวิเคราะห์ทัศนภาพ (Scenario Analysis))

นักกลยุทธท่านที่สามคือ Igor Ansoff บุคคลนี้พื้นเป็นรากฐานของการจัดการกลยุทธในศตวรรษที่ 20 และชื่อเสียงโด่งดังกว่าท่านแรก เพราะหนังสือ Corporate Strategy (1965)ได้พัฒนาต่อจากแนวคิดของ Chandler คือ Gap Analysis รวมถึงพัฒนาตารางข่ายกลยุทธ (Strategy Grid) ระหว่างกลยุทธการเจาะตลาดกับกลยุทธการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งนักวิชาการทางยุโรปได้นำไปศึกษาธุรกิจ SMEs ในอิตาลีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่และ Ansoff เป็นคนแรกที่อธิบายถึง ข้อความภารกิจขององค์กร (Mission Statement) ว่าคืออะไร และจะกำหนดจากสิ่งใด

นักกลยุทธท่านที่สี่คือ ถือเป็นปรมาจารย์ด้านการจัดการปีเตอร์ ดรักเกอร์ ผู้พัฒนาสุดยอดวิธีการบริหารแบบยึดวัตถุประสงค์ (MBO: Management by Objectives) ซึ่งวิธีการวิเคราะห์หาวัตถุประสงค์ของ MBO นี้ สามารถนำไปใช้ในการจัดทำ โมเดลธุรกิจ (Business Model) สำหรับการใช้ Balanced Scorecard เพื่อแปลวิสัยทัศน์และภารกิจไปสู่กลยุทธและดัชนีวัดผลสำเร็จ

ท่านสุดท้ายเป็นนักวิชาการมากกว่านักปฏิบัติคือ พอร์เตอร์ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบันโดยพัฒนาในเรื่อง โมเดลเพชร (Diamond Model) การวิเคราะห์แรงขับ 5 อย่าง (5 Forces Analysis กับโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยปรับจากแนวคิดของ Chandler เกี่ยวกับโครงสร้างตามกลยุทธ โครงสร้างอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์เพื่อใช้วางกลยุทธในการแข่งขันของประเทศและธุรกิจ นักกลยุทธจำเป็นที่จะต้อง ศึกษางานของพอร์เตอร์ เช่น Competitive Strategy (1980) The Competitive Advantage (1985) The Competitive Advantage of Nations (1990) On Competition (1998)จะทำให้รู้ว่าโดยสภาพจริงๆ ทางธุรกิจและ การวิเคราะห์ตามสิ่งที่ พอร์เตอร์เสนอสามารถประยุกต์ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

ผู้บริหารธุรกิจต้องศึกษาทำความเข้าใจไม่ใช่ตีความตามประสบการณ์ หรือใช้กรณีธุรกิจตนเองเป็นตุ๊กตาในการอธิบายหลักกลยุทธ ซึ่งมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ แม้ว่าจะทำสำเร็จแต่ก็เป็นเพียงบทเรียนบทหนึ่งของธุรกิจเท่านั้นต้องมีการพิสูจน์ หรือ ทำการวิจัยที่มากขึ้น เช่น การศึกษาถึงพัฒนาการด้านกลยุทธตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการสร้างโมเดลทางกลยุทธธุรกิจสำหรับอนาคต

อ้างอิง
พจน์ พงค์สุวรรณ , พ.อ.(2526). หลักยุทธศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก.
Ansoff, H.I.(2007). Strategic Management. Classic Ed., New York:Palgrave Macmillan.
Finnie, W.C. (1994). Hands-on Strategy. New York: John Wiley & Sons. ISBN 0471045861

No comments: