คงต้องยอมรับอย่างแท้จริงว่า ธุรกิจรอบบ้านเรามีการปรับตัวและเร่งการเติบโตในทุกลมหายใจเข้าออก แต่ก็คงยังงงๆ รอดูทิศทางการเมืองอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ยิ่งธุรกิจไทยมักคุ้นชินกับการอิงแอบการเมือง ก็ต้องรอดูทิศทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา
มาลองคิดดูว่า ภาคธุรกิจควรกำหนดบทบาทต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร ? ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก ดังกรณีตัวอย่างของธุรกิจค้าปลีก
เดิมทีธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรา จะมีลักษณะของรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) คือ เมื่อผู้ผลิตสินค้าทำการผลิตสินค้าเสร็จจะมีการกระจายสินค้าผ่านบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว จนกระทั่งไปถึงร้านโชห่วย (ร้านค้าของชำที่ขายทุกอย่าง)
เมื่อโลกการค้าพัฒนาขึ้น กลุ่มนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรในเมืองไทยได้นำ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่หรือที่เรียกว่า Modern Trade เข้ามาสร้างธุรกิจในเมืองไทย
เหตุผลสำคัญของการนำธุรกิจโมเดิร์นเทรดเข้ามามีการอธิบายกันไว้มากมาย เช่น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น สามารถซื้อสินค้าได้สะดวก รวดเร็ว และใกล้บ้าน
ทำให้เกษตรกรไทยมีที่ระบายสินค้าหรือสามารถนำผลผลิตเข้าไปขายยังธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้ได้
ทำให้เกิดการจ้างงาน คนไทยวัยทำงานจะได้มีการทำงานในสถานที่บรรยากาศติดแอร์และชีวิตความเป็นอยู่ที่จะดีกว่าโรงงาน
และเมื่อเวลาผ่านไป 1 ทศวรรษได้เกิดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก เช่น ร้าน 7-11 ห้าง Tesco-Lotus ห้าง Big-C ห้าง Carrefour ห้าง Makro เป็นจำนวนนับร้อยนับพันสาขาและมีทั่วประเทศไทย
ผลที่ได้จากการเติบโตของธุรกิจค้าหลีกสมัยใหม่
1)เราพบว่าธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมของคนไทยในประเทศพากันล้มหายตายจาก หรือปิดกิจการ ขาย เซ้ง ไปเป็นจำนวนมาก และที่มีอยู่ก็ไม่อาจต่อสู้ได้ทั้งด้านเงินทุน การพัฒนาร้าน เทคโนโลยีและการบริหารจัดการ
2)ที่บอกว่าคนไทยจะซื้อสินค้าราคาถูกลง เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่าจะถูกจริงหรือเปล่า เราพบว่าบรรดาร้านคอนวีเนียนสโตร์จะมีสินค้าราคาแพงที่สุดในบรรดาธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะว่า “สะดวกซื้อ” จึงราคาแพง
หรือที่ตลกหรือเป็นเรื่องขำขำ ยังมีอีก ถ้าเป็นร้านค้าปลีกในปั๊ม (G-Store) ขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่ร้านคอนวีเนียนข้างปั๊มหรือฝั่งตรงข้ามขายได้ไม่ผิดกฎหมาย
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็น ซูเปอร์เซ็นเตอร์หรือดิสเคาท์สโตร์ ขณะนี้มี House Brand จำนวนมาก ซึ่งราคาต่ำกว่าสินค้ามีแบรนด์แต่ปัญหาด้านคุณภาพสินค้าใครจะควบคุม
สรุปแล้วไม่สามารถบอกได้ว่ามีธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แล้วคนไทยซื้อสินค้าได้ถูกลง
3) ผลกระทบที่ตามมาจากการเปิดบริการในเขตชุมชนหรือสถานที่ทำเลดีๆ ในเมืองคือ การจราจรติดขัดเพราะมีกิจกรรมมากมายที่ทำให้คนไปใช้บริการจนเกิดผลกระทบกับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
ยิ่งมีความสามารถในด้านการทำให้รถสามารถเลี้ยวกลับได้ทั้งขาเข้าและ ขาออกในถนนหน้าห้าง ยิ่งเป็นสาเหตุให้รถติดมากเข้าไปอีก
สรุปได้ว่าธุรกิจในบ้านเรานั้นมีลักษณะของธุรกิจการเมืองที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของนักการเมืองและบุคคลที่สนับสนุนนักการเมือง
ผมคิดว่าธุรกิจที่ช่วยพัฒนาประเทศจะต้องเป็นธุรกิจที่ไม่อิงการเมือง นักธุรกิจหลายท่านอาจบอกว่าในเมืองไทยมีทางเป็นไปได้หรือ
กรณีตัวอย่างของธุรกิจในประเทศตะวันตกที่ประสบความสำเร็จมักจะหลีกหนีไปจากการอิงกับการเมือง และกรณีตัวอย่างในเอเชีย เช่น SAMSUNG เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่พยายามไม่อิงการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งคือ ประธานโฮอัม ที่ปฏิเสธในการยุ่งการเมือง
“ขอร้องและเน้นย้ำให้ทุกคนยึดมั่นในหลักการทำงานเช่นเดิม แม้ว่ายุคสมัยหรือสถานการณ์จะเปลี่ยนไปก็ตาม ขอให้ดูต่อไป พวกบริษัทขนาดใหญ่ที่อาศัยร่มเงาของประธานาธิบดีและไม่เคยวิตกกังวลมาก่อนจนถึงวันนี้ (วันแห่ศพประธานาธิบดีปักจูงฮี) จะต้องประสบกับภาวะยากลำบากอย่างแน่นอนต่อไป ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ตามขอให้ทุกคนพึงระลึกไว้ว่า อย่านำธุรกิจเข้าไปยุ่งเกี่ยว ผูกติดหรือพึ่งพาเด็ดขาด
หากเราทำธุรกิจอย่างมีศักดิ์ศรีและมีสติ เช่นนั้นแล้วพวกสังคมนิยมที่พยายามจะล้มธุรกิจเอกชนก็ไม่อาจจะทำอะไรเราได้”
และการที่ไม่ยุ่งกับการเมืองทำให้ SAMSUNG เกิดสิ่งต่อไปนี้
1.พยายามอย่างยิ่งที่จะระมัดระวังตัวตลอดเวลา ไม่ให้มีข้อผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว
2.การบริหารก็ทำอย่างโปร่งใส ระวังตลอดเวลาไม่ให้เกิดปัญหาไม่ว่าจะเมื่อไรที่ไหนก็ตาม
ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้ เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องบริหารธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ หากทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระขาดทุนก็เสมือนว่านักธุรกิจนั้นๆ ได้ทำบาปมหันต์ต่อสังคม
นั่นหมายถึงการที่ธุรกิจให้ได้กำไรนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ทางสังคมอันชอบธรรมของนักธุรกิจ
ผมเชื่อมั่นมาตลอดว่า นี่คือ หนทางแสดงความรักชาติในฐานะนักธุรกิจ
หากธุรกิจไม่อาจทำกำไรอย่างถูกกฎหมายย่อมเป็นสิ่งไม่ดี แต่หน้าที่ที่ต้องตระหนักเสมอนั่นคือ ต้องทำกำไร เสียภาษี โดยส่งเสริมให้ขยายกำลังการผลิตสินค้า แบ่งปันความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิค ตลอดจนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง (อ้างอิงจาก SAMSUNG บทเรียนความสำเร็จลีเบียงชอล แปลโดยจิราพร จันจุฬา)
ท่านผู้บริหารธุรกิจคงเข้าใจได้นะครับว่า ลู่วิ่งทางธุรกิจคืออะไร
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment