August 17, 2008

Systemic Scorecard : คลื่นลูกใหม่ที่มาแรงสุดๆ

หลายๆ ท่านที่เป็นผู้ใฝ่รู้มักจะชอบหรือนิยมที่จะแสวงหาว่าปีนี้มีอะไรใหม่ๆ ทางแนวคิดธุรกิจบ้าง

บ้านเราในปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีคำใหม่ๆ ทางกลยุทธ์เข้ามาแต่ก็ไม่ได้ฮิตติดตลาด เช่นMarket Space Strategy หรือ M&A (Merger & Acquisition) ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่มาก อาจจะเก่าเสียด้วยซ้ำ หรือ Digital Convergence

ขณะเดียวกันคำว่า BSC หรือ Balanced Scorecard ที่โด่งดังมาถึง 14 ปี ซึ่ง แคปแลนเวลาออกหนังสือเล่มใหม่จะโรดโชว์ไปทั่วโลก เหมือนที่กำลังจะมาเมืองไทยพร้อมกับ “Alignment” ซึ่งทำนายได้ว่าไม่ดังแล้วครับ!

เนื่องจากมีกลยุทธ์ใหม่กว่า ร้อนแรงกว่า ปรับแก้จุดอ่อนของ BSC ได้อย่างลงตัว ซึ่งเรียกว่า Systemic Scorecard (SSC)

SSC เป็นอย่างไรขอเก็บไว้ก่อนค่อยเล่าให้ฟัง!!

ที่ไปและที่มาของการจัดการกลยุทธ์

เรื่องราวของการจัดการกลยุทธ์ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารธุรกิจให้ความสำคัญในลำดับที่สูงมากของธุรกิจ เพราะบอกความเป็นความตายได้ ขณะเดียวกันในสำนัก MBA ทั้งหลายก็จำเป็นต้องเรียนวิชานี้ที่เรียกกันว่า Strategic Management แต่ดูจะพัฒนาไม่มากนักโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาบ้านเรา ถ้าเทียบกับองค์กรธุรกิจและสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ

ประเด็นของเรื่องมีอยู่ว่าในสมัยก่อน แนวคิดการจัดการกลยุทธ์เป็นเรื่องราวในธุรกิจก็เฉพาะการดำเนินธุรกิจเสียมากกว่าที่จะว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ หรือในบ้านเราเดิมทีก็เรียนกันในวิชานโยบายธุรกิจด้วยซ้ำ เพิ่งมาเปลี่ยนไม่นานนัก แต่ถ้าเป็นทางทหารก็เป็นพันๆ ปีแล้วที่ว่าด้วยแนวคิดทางกลยุทธ์ โดยเฉพาะที่โด่งดังมากๆ ในตำราพิชัยสงครามของซุนวู

ว่าไปแล้วการพิจารณาในเรื่องนี้สามารถมองพัฒนาการได้หลายรูปแบบ เช่น พิจารณาพัฒนาการทางกลยุทธ์ตามสำนักคิดทางกลยุทธ์ หรือดูพัฒนาการของความเป็นศาสตร์ ทั้งด้านองค์ความรู้หรือวิธีวิทยาการ แต่ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ ผู้เขียนจะสรุปย่อๆ พอเป็นแนวทางได้ดังนี้

ยุคเริ่มแรก เป็นลักษณะความคิดของการจัดการและ “ความก้าวหน้า” ซึ่งลักษณะความคิดแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1900-1950 ก็ประมาณ 50 ปีละครับ ในยุคนี้จะว่าด้วยผลิตภัณฑ์และสินค้าพืชผลเกษตร หน่วยกลางทางตลาดและหน้าที่การจัดการ (โดยเฉพาะการผลิตและการขาย)

ยุคที่สอง จะเป็นลักษณะของสำนักคิดการจัดการแบบ “มืออาชีพ” อยู่ช่วงราวๆ ปี 1950-2000 ลักษณะการจัดการทางกลยุทธ์ในยุคนี้จะว่าด้วยเรื่อง การเน้นลูกค้าและแนวคิดทางการตลาด การจัดวางคุณค่าในทางการตลาด การจัดการหน้าที่การบริหารเพื่อบรรลุผลลัพธ์สูงสุดและการจัดการแบบวิทยาศาสตร์เริ่มเกิดขึ้นพร้อมทั้งการเน้นหาเทคนิคที่จะใช้ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด

ยุคที่สาม ยุคแห่งการก่อเกิดแนวคิดการจัดการกลยุทธ์ การจัดการเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอยู่ในราวช่วงปี 1980-2000 ซึ่งลักษณะของแนวคิดยุคนี้จะเน้น กระบวนการที่มุ่งเน้นทางการตลาด กระบวนการตลาดบริการ กระบวนการตลาดเชิงความสัมพันธ์ กระบวนการจัดการคุณภาพ กระบวนการจัดการซัพพลายเชน กระบวนการจัดการทรัพยากรและการแข่งขัน

ยุคปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการจัดการที่เป็นกระบวนการร่วมกันปรับคุณค่า-นวัตกรรม ซึ่งกำเนิดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ลักษณะเด่นๆ เช่น การค้นหาคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า การร่วมกันทางความรู้ทั้งลูกค้าและซัพพลายเออร์ กระบวนการจัดการเครือข่าย การจัดการแบบคู่ขนานหรือทวิลักษณ์คือ จัดการทั้งประสิทธิภาพและความยุ่งเหยิงพร้อมๆ กัน

สรุปแล้วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันเป็นสิ่งกำหนดจิตสำเนียงของการคิดเชิงกลยุทธ์ การวางแผนกลยุทธ์ และการนำสู่การปฏิบัติ

ด้วยแนวคิดเชิงกลยุทธ์แบบการแข่งขันลักษณะผลลัพธ์ที่เหนือกว่าถูกโยงเข้ากับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน บริษัทมักจะสำเร็จเพียงแค่การปรับปรุงเพิ่มขึ้น การเลียนแบบและการเพิ่มนวัตกรรมและไม่มีนวัตกรรมที่เป็นคุณค่าหลัก

ธุรกิจจำเป็นต้องหนีไปจากจิตสำเนียกในการแข่งขัน-สินค้าแบบดั้งเดิม และปรับจิตสำเนียกบนความร่วมมือในนวัตกรรม-คุณค่า หรือมุ่งที่นวัตกรรมด้านคุณค่า/บริการเป็นขอบเขตหลัก

นี่คือเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดของการจัดการกลยุทธ์แบบที่สอนในสำนักการศึกษาทางธุรกิจและการจัดทำแผนกลยุทธ์ตามแนวคิดของ การวางแผนกลยุทธ์ การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติและการควบคุมกลยุทธ์ไม่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของภูมิทัศน์โลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเศรษฐกิจนวัตกรรม

Systemic Scorecard : การจัดการกลยุทธ์อย่างเป็นระบบที่เหนือกว่า

ช่วงนับตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปี 2006 ต้องยอมรับอิทธิพลทางความคิดด้านการปรับใหม่ในการจัดการกลยุทธ์โดยเฉพาะการจัดการกลยุทธ์อย่างสมดุล หรือ Balanced Scorecard ซึ่งถ้าใช้อย่างถวายชีวิตตาม Kaplan (1), (2) และ (3) ก็จะพบว่ามีข้อจำกัดและการนำไปสู่การปฏิบัติที่สำเร็จค่อนข้างยาก

ขณะเดียวกัน Kaplan ก็พยายามทำ “ตัวแบบ” (Template) ของแผนที่กลยุทธ์ที่อ้างว่าไว้ใช้ได้กับทุกๆ ธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่เป็นอย่างนั้น

รวมถึงตรรกในแผนที่กลยุทธ์ก็ตีความกันคลาดเคลื่อนให้พบเห็นได้อยู่เสมอๆ แม้ว่าในปีนี้ Kaplan จะออกเล่มใหม่ในเรื่อง การจัดวางกลยุทธ์ (Strategic Alignment) ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ของ BSC ดีขึ้น

ต้องบอกว่า การจัดการกลยุทธ์อย่างเป็นระบบที่เหนือกว่า (Systemic Scorecard) เข้ามาในช่วงจังหวะสำหรับองค์กรที่มุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม-คุณค่าสู่ลูกค้า เป็นสุดยอดกลยุทธ์ (Extreme Strategy) ที่เวิร์คมากๆ สำหรับโลกธุรกิจศตวรรษที่ 21 ที่เป็นลักษณะของเศรษฐกิจนวัตกรรม

BSC ที่มีปัฐหาและข้อจำกัดได้ถูกแก้ให้ตกได้ด้วย SSC ที่ละครับ

KPIs ที่สับสนและวัดได้ไม่ชัดเจนด้วยแนวคิดของ SSC จะได้ดีกว่า BSC

BSC ใช้ได้ดีกับองค์การแบบดั้งเดิมและไม่ซับซ้อน แต่ถ้าเป็นองค์กรที่มุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม-คุณค่าสู่ลูกค้า SSC จะทำได้เหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตามจะทำ Systemic Scorecard ได้ดีต้องอาศัย BSC เป็นบันไดต่อยอดขึ้นไป ธุรกิจที่สนใจจริงๆ อดใจคอยอ่านส่วนที่เป็นหมัดเด็ดของSSC ได้ครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: