August 4, 2008

ตำราพิไชยสงครามไทย(The Essense of the Phichaisongkram)(3)

ตำราพิไชยสงครามไทย(The Essense of the Phichaisongkram)(ต่อ)
โดย วสันต์ มหากาญจนะ
วารสารเซนต์จอห์นปีที่ 2 ฉบับที่ 2 มกราคม-ธันวาคม 2542 หน้าที่ 144 - 155

2.3 แบบแผนขนบธรรมเนียมในราชสำนัก พระราชกิจของพระมหากษัตริย์และขุนนาง ความสำคัญของเนื้อหาในหัวข้อนี้มิได้ด้อยความสำคัญไปกว่าเนื้อหาในหัวข้ออื่น ๆ เนื้อหาในหัวข้อนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางได้ในระดับหนึ่งซึ่งในระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาความเข้มข้นในการถูกนำไปใช้มีความแตกต่างกัน ความสำคัญของแบบแผนดังกล่าวได้ปรากฎบทบาทที่สำคัญในช่วงระยะเวลาก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย ในสมัยอยุธยาปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงที่มีเนื้อหาในเชิงสั่งสอนในเรื่องของแบบแผนดังกล่าว เช่น ขุนช้าง – ขุนแผน โคลงต่าง ๆ เช่น ราชสวัสดิ์ พาสีสอนน้อง เทศนาทศรถสอนพระรามหรือที่เป็นตำราที่ใช้เป็นแบบแผน ใช้ในการสั่งสอน เช่น ราโชวาทชาดกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อธิการวัดเดิม (อโยธยา) ที่นมัสการเมื่อจุลศักราช 1037 หรือตรงกับ พ.ศ. 2218 (มานพ ถาวรวัฒนัสกุล 2535 : 1) พระพิไชยเสนาฉบับที่เก่าที่สุดที่มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

หลังจากวิกฤตการณ์ในปี พ.ศ. 2310 นับเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 15 ปีที่มีการสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นมา การสืบสานความเจริญทั้งในด้านของแบบแผน ธรรมเนียม ค่านิยม และรูปแบบของสังคมเดิมที่ปรากฎเป็นแบบแผนมาแล้ว ทั้งนี้รวมถึงความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาแห่งยุคสมัยด้วยอย่างไรก็ตามความสืบเนื่องดังกล่าวยังคงพอมีอยู่จากบรรดาเหล่าผู้รู้ระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ทางราชสำนักเองในตอนต้นรัตนโกสินทร์ การบังคับใช้ในเรื่องของแบบแผนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ตามรูปแบบที่มีความเข้มงวดรัดกุมต้องผ่อนลงไปมากอันเนื่องมาจากการขาดแคลนผู้คน อย่างไรก็ดี การที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้แปลคัมภีร์ราชนิติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2348 แม้การแปลครั้งนี้จะไม่ได้แปลจนจบครบถ้วนก็ตาม แต่ก็มีความหมายที่อาจกล่าวได้ว่าคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่ถือเสมือนเป็นแม่แบบที่กำหนดคุณสมบัติของเสนาบดี ข้อควรปฏิบัติของกษัตริย์และขุนนาง ขณะเดียวกันเนื้อหาของคัมภีร์นี้ได้ครอบคลุมเนื้อหาของตำราพิไชยเสนา ราชสวัสดิ์ และคำสอนต่าง ๆ ที่เคยมีมาหมดทุกด้าน การแปลเรื่องราชาธิราชจากภาษามอญออกมาเป็นภาษาไทย ก็มีเนื้อหาในเรื่องของขนบธรรมเนียมคำสอนต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างในเรื่องของแบบแผนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในตำราพิไชยสงคราม 1 ตัวอย่าง
2.3.1 ข้อความรู้และโทษสำหรับแม่ทัพ มีอยู่ 5 ประการเป็นความรอบรู้ในเรื่องของการคิดอุบายการใช้ในอำนาจต่าง ๆ ดังถอดความจากตำราพิไชยสงคราม (ปลัดเลย์ 2418 : 94)
1. คิดกลอุบายเห็นผู้ใดทำได้ใช้ให้ไปทำ
2. มีน้ำใจโอบอ้อมแก่เหล่าทหารเสมอกัน
3. ให้พิจารณาตริตรองแล้วจึงสั่ง
4. ถ้าเคยรบได้ชนะเพราะกำลังมาก ถ้ากำลังพลน้อยรบไม่ได้ก็ไม่ทำตัวองอาจ
5. อย่าคิดกำเริบยศ (ทรยศ) ต่อนายตนเอง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของแบบแผนธรรมเนียมในราชสำนัก พระราชกิจของพระมหา กษัตริย์และขุนนางที่สอดแทรกอยู่ในตำราพิไชยสงครามอีกหลายตอนซึ่งดูเหมือนกับว่าอาลักษณ์ผู้ที่ชุบหรือเขียนตำราดังกล่าวมีเจตนาที่จะสอดแทรกเนื้อหาแห่ง “ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด” เอาไว้มิให้คลอนแคลน นับเป็นความสอดคล้องทางด้านปริบททางการเมืองของปฏิสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับพระมหากษัตริย์ที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การศึกษาในฐานะประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเท่าที่ผ่านมาเป็นการศึกษาโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเพียงไม่กี่ประเภท
ส่วนมากเป็นหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรที่ใช้ซ้ำกันจนยึดถือกันเป็นกระแสหลักอันได้แก่ พระราชพงศาวดาร พงศาวดารจดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ ซึ่งจากหลักฐานข้อมูลเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ทราบถึงภาพลักษณ์ของสังคมไทยในยุคสมัยต่าง ๆ ได้อย่างกว้าง ๆ

ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลชนิดสำเร็จรูปในเรื่องราวของสังคมไทยทุกด้าน แต่มีคุณค่าเพียงพอที่จะนำมาประเมินย้ำถึงความถูกต้องในการศึกษาสังคมไทยในสมัยโบราณได้ในระดับหนึ่ง เอกสารหลักฐานเหล่านี้มีอยู่ค่อนข้างมากและไม่มีผู้ใดให้ความสนใจที่จะศึกษาในฐานะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าและสามารถนำไปตอกย้ำสมมติฐานภาพลักษณ์ของสังคมไทยอันเกิดจากมุมมองของหลักฐานกระแสหลักในการศึกษาสังคมไทยข้างต้น อย่างไรก็ตามไม่ควรจะด่วนสรุปที่จะใช้เอกสารเหล่านี้อย่างปลอดความระมัดระวังยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ การประเมินหาอายุการสังเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ จึงจะทำให้เอกสารนั้นมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

ภูมิปัญญาไทยในตำราพิไชยสงคราม

สำหรับคำว่าภูมิปัญญา ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานให้ได้ความหมายไว้เพียงว่า พื้นความรู้ความสามารถ (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 619) ซึ่งดูจะมีความหมายที่ค่อนข้างแคบเกินไป ในงานศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้ในความหมายของความสามารถในการรับถ่ายทอด ส่งผ่าน รวบรวมความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำมาเปรียบเทียบใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือตามจุดมุ่งหมายของผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด ในที่นี้จะขอวิเคราะห์และอธิบายถึงภูมิปัญญาที่ปรากฎอยู่ในตำราพิไชยสงคราม 4 ประเด็นดังนี้

1. ภูมิปัญญาในเรื่องของการรับแล้วนำมาปรับใช้ เช่น เรื่องของจตุรงค์เสนา สิ่งนี้ได้ปรากฎอยู่ในตำราพิไชยสงคราม ของฮินดูเช่นกัน และเนื้อหาก็มีเหมือนกัน คือ ในหมวดของทหาร 4 เหล่า เหล่าม้า เหล่าทหารราบ เหล่าช้าง เหล่ารถ สำหรับเหล่ารถนั้น ตามความเห็นของอาจารย์บางท่านของไทยเราน่าจะดัดแปลงเป็นเรือ สำหรับผู้ศึกษาเห็นว่ารถนั้นน่าจะเป็นรถที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธี ซึ่งมีการประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม
2. ภูมิปัญญาของการสั่งสมความรู้และประสบการณ์จากธรรมชาติ เช่นในเรื่องของการตั้งทัพหรือตั้งค่ายอันมีที่มาอันสำคัญจากประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า การตั้งทัพแบบพยัคฆนาม เป็นการตั้งทัพตามแนวทางป่า เลียนแบบอากัปกิริยาของเสือที่จะซุ่มซ่อนตัวตามแนวชายป่า หรือการตั้งทัพแบบนาคนามเรียงรายตามแม่น้ำทั้งสองฝาก คล้ายกับอากัปกิริยาของงูที่เลื้อยไปมา หรือการตั้งทัพในลักษณะของการหันหลังให้กับภูเขาสูงชัน ซึ่งเป็นบริเวณที่ยากแก่การโจมตีของข้าศึก สำหรับการซุ่มซ่อนกองทัพตามแนวชายป่าหรือในป่า เพื่อเข้าโจมตีสอดส่องความเคลื่อนไหวของข้าศึก นับว่าเป็นยุทธวิธีทำการรบที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. ภูมิปัญญาของแม่ทัพ แม่ทัพเปรียบเสมือนผู้ควบคุมหรือชี้ชะตากรรม นอกเหนือจากคุณสมบัติความสามารถทั่ว ๆ ไป เป็นต้นว่าการใช้อาวุธต่าง ๆ แล้ว แม่ทัพก็ควรจะมีความรู้ในเรื่อง ดังนี้
1. ความรู้ในเรื่องของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นต้นว่า โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ คัมภีร์ต่าง ๆ พิธีกรรมสำคัญ เช่น ตัดไม้ข่มนาม อย่างไรก็ตาม แม่ทัพก็ไม่ได้มีความรู้เหล่านี้ละเอียดมากนัก เพราะมีโหรติดตามไปในกองทัพด้วย
2. ความรู้ในเรื่องของจริยธรรมที่ใช้ในการควบคุมกองทัพ เช่น การบำเหน็จความชอบ บทลงโทษ การปลุกใจทหารให้มีความพร้อมในการทำสงคราม
4. ภูมิปัญญาของคนไทยในเรื่องความคิดในเรื่องเหนือธรรมชาติกับการทำสงคราม ในการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับการทำสงครามในสมัยโบราณแง่มุมหนึ่งทางความคิดที่สะท้อนออกมาจากตำราพิไชยสงครามคือการทำสงครามเป็นเสมือนกิจกรรมของชนทุกระดับชั้นในสังคม ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงราษฎรธรรมดาเป็นหน้าที่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกด้าน เช่นเดียวกับในเรื่องของความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ที่ยึดถือกันอยู่ในสังคมขณะนั้น เป็นการให้คุณค่า การยอมรับนับถือ เป็นบ่อเกิดของจารีตประเพณี และมีลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ปรากฎอยู่ในตำราพิไชยสงคราม เช่น สวัสดิรักษา สวัสดิมงคล ข้อห้ามต่าง ๆ

ผลสรุปจากการศึกษาโดยภาพรวม ตำราพิไชยสงครามได้สะท้อนแนวความคิดในเรื่องโลกทรรศน์แบบองค์รวมออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่เนื้อหาที่มีการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ แบบแผนของข้าราชสำนักและขุนนางที่ผสมปนกันนับตั้งแต่ต้นเรื่องเลยทีเดียว แม้การผสมผสานดังกล่าวจะไม่อยู่ในสภาพที่กลมกลืนกันจนหมดทุกส่วนก็ตาม แต่ความคิดในเรื่องโลกทรรศน์แบบองค์รวมก็ได้แสดงออกมาในแง่มุมของความสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อยเป็นต้นว่า พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามเป็นเรื่องในทางนามธรรม เคล็ดลางต่าง ๆ แต่ก็ให้ผลทางรูปธรรมนั้นก็คือเป็นขวัญกำลังใจในการทำสงครามให้ได้รับชัยชนะหรือเรื่องของแบบแผนทางจริยธรรมของแม่ทัพ ก็มิได้มีความสำคัญน้อยไปกว่ายุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการทำสงคราม

อนึ่ง การศึกษาตำราพิไชยสงครามในแง่มุมของการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญานั้น สำหรับผู้ศึกษานับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือการคาดหวังว่าตำรานี้น่าที่จะเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในแง่มุมใดมุมหนึ่งได้ดียิ่งขึ้น แต่จากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่อุทิศให้การจัดลำดับโครงสร้างความเป็นมาซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากอันจะช่วยยืนยันและช่วยหาตำราที่สามารถใช้เป็นฉบับมาตรฐาน ในการศึกษางานในลักษณะนี้ยังไม่มีผู้ใดกระทำ จึงต้องมีการจัดลำดับโครงสร้างเป็นอันดับแรก จึงทำให้ความเข้มข้นของการศึกษานี้ลดลงไปบ้าง ขณะเดียวกัน เนื้อความส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีผู้ใดที่สามารถจะให้อรรถอธิบายในเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ความรู้บางอย่างก็สูญหายไปตามกาลเวลา ผู้ศึกษาจึงต้องอธิบายความรู้เหล่านี้ตามแต่ที่จะสามารถกระทำได้ ลักษณะของงานจึงเป็นการอรรถอธิบายโดยอาจจะขาดการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม การถูกนำไปใช้ในปริบทบาทประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ศึกษายังไม่ได้มีโอกาสศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เปรียบเสมือนวิถีทางที่เปิดกว้างในการศึกษาตำราพิไชยสงครามในแง่มุมต่าง ๆ ให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป


บรรณานุกรม
หนังสือ
กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,2521.
ตำราพิไชยสงครามคำกลอน. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,2473. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงพิชเยนทรโยธิน (สงัด อินทรโยธิน),2473.
นิยะดา เหล่าสุนทร. การฟื้นฟูอักษรศาสตร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,2535.
ปลัดเลย์, แดนบีช. ผู้จัดพิมพ์. หนังสือพิไชยสงครามไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ปลัดเลย์, 2418. ราชบัณฑิตยสถาน. (ผู้รวบรวม).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์. 2525.
ศิลปากร, กรม. ตำราพิไชยสงคราม. (พิมพ์เป็นงานอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสนิทนารถ (ตลับ บุญยรัตพันธุ์).
สำนักนายกรัฐมนตรี. ประชุมจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยาภาค 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนัก ทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2510.
เสภาขุนช้าง – ขุนแผน. 3 เล่ม. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2535.
วารสาร
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. “ตำราพิไชยเสนา” วารสารรวมบทความประวัติศาสตร์. ฉบับที่ 14. (พุทธศักราช 2535) : 19 – 30
ต้นฉบับตัวเขียน
“ตำราพิไชยสงคราม เล่ม 1.” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยขาว.อักษรไทย ภาษาไทย เส้นหมึกดำ. ม.ป.ป.มัดที่ 4, เลขที่ 2
“ตำราพิไชยสงคราม เล่ม 5.” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยดำ.อักษรไทย ภาษาไทย เส้นดินสอขาว (หรดาล). ม.ป.ป. มัดที่ 15, เลขที่ 88.
“ตำราพิไชยสงคราม เล่ม 1.” หอสมุดแห่งชาติ. สมุดไทยดำ.อักษรไทย ภาษาไทย เส้นรงค์. ม.ป.ป.เลขที่ 179.




(อ้างจาก : ขุนนางอยุธยา http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=2064&page=4๗)

No comments: