มีผู้บริหารหลายๆ ท่านที่เข้าสัมมนาในช่วงเดือนตุลาคม ได้ถามคำถามกับผู้เขียนในระหว่างที่บรรยายเรื่อง “แนวทางการบริหารสมัยใหม่” “การจัดการกลยุทธด้วย BSC & KPIs” และ .ภาวะผู้นำ : สุดยอดกูรูที่เหนือกว่าตำรา” ว่า ยุทธศาสตร์ชาติและธุรกิจในปีหน้าควรจะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจและควรนำมาขยายความต่อทางธุรกิจ เพื่อ
ให้เกิดการคิดและมีโซลูชั่นที่มากกว่าคำตอบเดียวตามระบบการศึกษาไทยที่ชอบคำตอบที่ถูกต้องที่สุดจึงได้คะแนน
ความรู้สึกที่เห็นหน่วยงานภาครัฐต่างมีการปรับทิศทางแบบหกคะเมนตีลังกาจากเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้รวดเร็วฉับไวสมกับอยู่ในยุคไฮเทคจริงๆ อนาคตประเทศไทยคงจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วฉับไวเช่นกัน
ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจเมื่ออยากรู้ว่า “อนาคตประเทศไทย” หรือ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” จะมีการกำหนดไว้อย่างไรบ้างจึงได้ลองเข้าค้นทางอินเตอร์เน็ตและได้เพียง 2-3 เรื่องราวเท่านั้น
- มีแต่หนังสืออยู่ 1-2 เล่มที่ตรงตามหัวข่อดังกล่าว
- มีบทความซึ่งเป็นการสรุปคำบรรยายของอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
- และมีที่แปลกหน่อยซึ่งพูดถึง สังคมที่อยู่เย็น (ซึ่งคงจะจริง เพราะมีอุทกภัย
ท่วมทั้งประเทศ)
ความจริงแล้วหากจะมองยุทธศาสตร์ธุรกิจในปีหน้า สิ่งที่ควรรู้เป็นอันดับแรกคือ ประเทศไทยจะไปไหน อนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะจะได้กำหนดทิศทางธุรกิจที่ถูกต้อง
ประการแรก ธุรกิจต้องคิดไกลไม่ใช่แค่ 1-2 ปี ธุรกิจต้องมองข้ามช็อตไปโน่นเลยครับ! เมื่อมีรัฐบาลใหม่หลังจากการเลือกตั้ง โดยสามารถตั้งโจทย์เกี่ยวกับประเทศไทยได้ว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นเศรษฐกิจผสมผสานบนพื้นฐานของความพอเพียง และการเข้าสู่เศรษฐกิจความรู้เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม มิอาจทำให้เราใช้เพียงภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าลดช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงในโลกาภิวัฒน์นี้ได้
ซึ่งงานวิจัยของ อภิชัย พันธเสนและคณะ (2546) ได้ศึกษาการประยุกต์พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมพบว่า
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทุกขนาดและทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นโดยภาพรวมหรือมีการจำแนกตามขนาดและจำแนกเป็นรายอุตสาหกรรม จะใช้ได้โดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดีตามหลักเกณฑ์ของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปแล้ว อุตสาห-กรรมทุกขนาด ทุกประเภทจะมีค่าเฉลี่ยของดัชนีเศรษฐกิจพอเพียงลดลงคือ ค่าเฉลี่ยสูงกว่าพอใช้เล็กน้อย ยกเว้นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนังที่อยู่ในระดับพอใช้....
.......ข้อสังเกตคือ อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกหรือมีสัดส่วนของตลาดต่าง-ประเทศสูง จะมีคะแนนตามเกณฑ์ของเศรษฐกิจพอเพียงต่ำลง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงอาจจะประยุกต์ใช้ได้ไม่ดีนักกับอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นสำคัญ อย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ
ประการต่อมา คำตอบธุรกิจอยู่ที่ตลาด-คน-เทคโนโลยีและทักษะการจัดการ
การเป็นธุรกิจที่ดีของสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสูงมาก แต่ธุรกิจจะทำอย่างนั้นได้ ธุรกิจจะต้องรู้ว่าธุรกิจจะเตรียมตัวอย่างไรในอนาคตอีก 3-4 ปีข้างหน้าให้มีกำไรมาดำเนินธุรกิจ และจะผลิตสินค้าอะไรอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคก่อนคู่แข่งขัน
ความเข้าใจในตลาดที่มีศักยภาพที่ธุรกิจต้องเข้าไปให้ถึงก่อน โดยใช้คนและเทคโนโลยี ซึ่งเดิมที่ที่ถูกสอนกันมาคือ ทำธุรกิจที่ตรงกับความสามารถหรือสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญ แต่ในอนาคตอาจจะต้องหาความเก่งและสมรรถภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อดำเนินธุรกิจ
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ดรักเกอร์ให้ความเห็นไว้ว่า ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ธุรกิจไม่ยาวนาน ทักษะการจัดการแบบองค์รวมเป็นตัวกำหนดความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของบริษัท
แต่ในระยะยาว จะต้องสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันแบบเฉพาะของแต่ละธุรกิจขึ้นมา จึงจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน
สำหรับคนมีนัยอยู่ 2 อย่างคือ ลูกค้าและพนักงานต้องสร้างให้ลูกค้าเป็นสมาชิกและพนักงานคือ ผู้ร่วมลงทุนกับองค์กร
ส่วนเทคโนโลยีคือ สิ่งที่จะทำให้ชนะในสงครามการตลาด
ประการสุดท้าย ธุรกิจแห่งนวัตกรรม
ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่ว่าทิศทางของประเทศจะเป็นอย่างไร จะยึดเศรษฐกิจแบบไหนก็ตาม ทุนทางความรู้ (Knowledge Capital) คือ สิ่งที่ประเทศจะต้องเร่งพัฒนาและสร้างขึ้นมาให้โดดเด่น มิฉะนั้นธุรกิจในชาตินั้นๆ อาจไม่อยู่รอดให้แข่งขันได้
การแปลงสู่ ทุนความรู้ จากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ซึ่งมักจะเรียกว่า ทุนทางปัญญา เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจแห่งนวัตกรรมต้องเร่งให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีกลยุทธสำหรับธุรกิจแห่งนวัตกรรม
ดังรูป
โดยที่แนวคิดจะอยู่บนหลักการของการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องได้ไปสู่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้คือ ทุนทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วยทุนภาวะผู้นำ ทุนองค์กร ทุนความสัมพันธ์และทุน HR
ในส่วนต่อมาคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาจากโซ่คุณค่าของที่ดิน อุปกรณ์ เงินทุนและเครื่องจักร ที่แปลงไปสู่สินทรัพย์ทางความรู้ ด้วยกระบวนการนวัตกรรมและการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา
และธุรกิจแห่งนวัตกรรมจะต้องสร้าง โซ่คุณค่า (Value Chain) ที่มีเครือข่ายคุณค่า (Value Network) และร้าน/ที่จำหน่าย (Value Shop)
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment